บึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของไทย จัดตั้งตามพระราชบัญญัติจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 โดยแยกการปกครองออกจากจังหวัดหนองคาย มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์จึงไม่แปลกที่จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย EDTguide จึงขอแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยวบึงกาฬ รับรองสวยไม่แพ้จังหวัดอื่นๆเลยค่ะ

วัดอาฮงศิลาวาส (แก่งอาฮง)

ที่อยู่ : ริมแม่น้ำโขง ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ


03

02

วัดอาฮงศิลาวาส (แก่งอาฮง) ห่างจากอำเภอเมืองบึงกาฬ 21 กิโลเมตร บริเวณวัดกว้างขวางและสวยงามติดริมแม่น้ำโขง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธคุวานันท์ศาสดา หล่อด้วยทองเหลือง ลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช 

01

04

เชื่อกันว่าลำน้ำโขงบริเวณหน้าวัดเป็นจุดที่ลึกที่สุดในแม่น้ำโขง หรือเรียกกันว่า สะดือแม่น้ำโขง ได้เคยมีการวัดโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไปได้ถึง 98 วา ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ เมื่อรูปกรวยแตก จะมีเสียงคล้ายกระแสน้ำไหลเซาะโขดหินแล้วจะค่อย ๆ หายไป เมื่อกระแสน้ำเชี่ยวมาอีกก็จะก่อตัวขึ้นใหม่เกิดสลับกันตลอดทั้งวัน ส่วนหน้าแล้งในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะมองเห็นแก่งชัดเจน

ขอบคุณภาพจาก คู่หูเดินทาง www.busbuddythailand.com

หนองกุดทิง

ที่อยู่ : ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ


gudthing

หนองกุดทิง ห่างจากตัวอำเภอเมืองบึงกาฬ 5 กิโลเมตร  เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000  ไร่  ลึก 5 – 10 เมตร ตามตำนานเล่าว่าแต่ก่อนมีกระทิงป่าชอบมากินน้ำเป็นจำนวนมาก คนในสมัยก่อนจึงเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองกระทิง แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น หนองกุดทิง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ ปลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดในโลก 20 สายพันธุ์ พืชน้ำกว่า 200 ชนิด  นกพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 40 ชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (พื้นที่แรมซาร์) สำคัญของโลก เป็นแห่งที่ 11 ของประเทศไทย

ขอบคุณภาพจาก คุณขัตติยา  ชัยมณี www.m-culture.go.th

ภูทอก (วัดเจติยาคิรีวิหาร)

ที่อยู่ :  ต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ


phutok2

ภูทอก ภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทรายมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบด้วย ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย  แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เข้ามาจัดตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบมาก 

phutok4

phutok3

phutok6

ภูทอกน้อยเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง5 ปี บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งโลกุตระหรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น

phutok5

phutok

phutok7

ภูทอกยังคงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน บันไดขึ้นภูทอกแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ดังนี้  
– ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขาครึ้ม มีโขดหิน ลานหิน 
– ชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย แต่เป็นทางชันมาก ต้องผ่านอุโมงค์มืด ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4   
– ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยเวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่า บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักระหว่างทางเป็นระยะ ๆ   
– ชั้นที่5  มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างหลายแห่ง มีหน้าผาชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน ผู้คนส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่นี้ 
– ชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาว 400 เมตร เวียนรอบเขาซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน 
– ชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม    

ภูทอก ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นในวันที่ 10 – 16 เมษายน ของทุกปี
ขอบคุณภาพจาก คู่หูเดินทาง www.busbuddythailand.com  ยังมีที่เที่ยวบึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของไทย ที่น่าสนใจอีก อ่านต่อได้ที่นี่ ค่ะ แต่ถ้าจะหาข้อมูล กิน ดื่ม เที่ยว ทั่วไทยแล้วล่ะก็ เชิญเลยค่ะ www.edtguide.com