แพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) หรือแพขยะตะวันออก (Eastern Garbage Patch) คือ 1 ใน 5 แพขยะในมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งสะสมของขยะทางทะเล (Marine Litter) จากการเคลื่อนที่ของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือที่ได้พัดพาเอาเศษขยะและชิ้นส่วนพลาสติกมากมายจากในแผ่นดินมากักรวมกันไว้ จนกลายเป็นวงวนของขยะขนาดใหญ่บริเวณใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Trash Vortex) ที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดราว 2 เท่าของประเทศไทย

นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตใหม่ในแพขยะใหญ่แปซิฟิก
Fangz / Wikimedia Commons

เมื่อปี 2019 ทีม The Vortex Swim ได้ออกเดินทางจากเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ไปยังเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีเป้าหมายในการสำรวจแพขยะใหญ่แปซิฟิก และมุ่งศึกษาสัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวมหาสมุทร หรือนิวสตัน (Neuston Species) ทั้งนี้ การเดินทางดังกล่าวมี ‘เบอนัวต์ เลอคอมต์’ (Benoît Lecomte) นักว่ายน้ำมาราธอนชาวฝรั่งเศส ว่ายน้ำเลียบเคียงไปด้วย

ขณะที่ เลอคอมต์ ว่ายน้ำเข้าไปใกล้กับขอบของแพขยะใหญ่แปซิฟิก เขาก็พบกับสิ่งที่น่าประหลาดใจคือสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน และมันเริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเขาเข้าใกล้กับแพขยะ เขาจึงเก็บตัวอย่างของน้ำจากมหาสมุทร รวมถึงสิ่งมีชีวิตตัวอย่างกลับไปให้ ‘รีเบคกา เฮลม์’ (Rebecca Helm) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) ที่อยู่บนเรือเพื่อทำการตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี 2022 เฮลม์ได้เผยแพร่ภาพสุดมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาดผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @RebeccaRHelm ซึ่งมีตั้งแต่หอยทากที่มีเมือกพิษ, แมงกะพรุน, ไฮดรอยด์ (สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับดอกไม้ทะเลและปะการัง)

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2022 เฮลม์ไดเผยแพร่วิดีโอของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่เฮลม์เรียกว่า ‘มังกรทะเลสีน้ำเงิน’ โดยเธอระบุว่า มังกรทะเลสีน้ำเงินสามารถกินแมงกะพรุนเข้าไป แล้วก็ขโมยเอาเข็มพิษจากเหยื่อมาทำเป็นเสื้อเกราะของตัวเอง เพื่อใช้ในการป้องกันตัวและโจมตีเหยื่อรายถัดไป

แม้ว่าเฮลม์และเลอคอมต์จะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาดเหล่านี้ และแพขยะใหญ่แปซิฟิกได้กลายเป็นเหมือนระบบนิเวศแห่งใหม่ แต่เฮลม์ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เกิดมาจากปัญหาขยะพลาสติกของมนุษย์ แม้ในตอนนี้มันจะกินขยะพลาสติกเป็นอาหาร แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าในอนาคต มันอาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรด้วยการตามล่าและกินสัตว์ในมหาสมุทรอื่น ๆ

Rebecca R. Helm, Department of Biology, University of North Carolina

“การกำจัดขยะในมหาสมุทรด้วยการเอาตาข่ายไปตักมันออกมา ไม่ใช่ความคิดที่ดีสักเท่าไร มนุษย์ควรตระหนักในเรื่องนี้ และคิดถึงปัญหาขยะพลาสติกให้มากกว่านี้ เพราะในตอนนี้มีไมโครพลาสติกจำนวนมากในอาหาร ในร่างกายของมนุษย์ หรือแม้แต่ในร่างกายของเด็กแรกเกิด” เฮลม์กล่าว

อ่านรายงานเรื่อง “ระบบนิเวศลึกลับบนผิวมหาสมุทร” (The Mysterious Ecosystem At The Ocean’s Surface) ของรีเบคกา เฮลม์ ได้ที่นี่ คลิก

อ้างอิง 1, อ้างอิง 2, อ้างอิง 3, อ้างอิง 4, อ้างอิง 5

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส