ตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ก็เริ่มถอยห่างออกจากรัสเซีย และแรงกดดันเรื่องการคว่ำบาตรจากนานาชาติก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ในรัสเซียอาจมองหางานหรือหาโอกาสศึกษาต่อได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในยุโรป

นักวิเคราะห์กล่าวว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะวัดผลกระทบของสงครามต่อเด็กรุ่นใหม่ว่ารุนแรงแค่ไหนภายในเมื่อกี่เดือนที่ผ่านมานี้ แต่ยืนยันได้ว่าเด็กที่เติบโตขึ้นมาในช่วงที่ปูตินดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี หรือตั้งแต่ปี 2012 มีภาพจำเกี่ยวกับประเทศตัวเองต่างจากรัสเซียที่พวกเขาเคยโตมาแน่นอน และหลังจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การเติบโตในหน้าที่การงานและการศึกษาของชาวรัสเซียรุ่นใหม่จะยากขึ้นมาก

บริษัทข้ามชาติกำลังถอยห่างออกไป

บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ เป็นตัวช่วยสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้คนในรัสเซียมีอิสระในการเติบโตในตลาดแรงงานยุโรป แต่โอกาสเหล่านั้นกำลังลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว

แอนดรูว์ โลห์เซน (Andrew Lohsen) สมาชิกในโครงการยุโรป รัสเซีย และยูเรเซียแห่งศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติกล่าวว่า บริษัทข้ามชาติในรัสเซียเป็นโอกาสแห่งการเติบโตและความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่ตอนนี้บริษัทเหล่านี้กำลังปิดกิจการในรัสเซีย และบางอุตสาหกรรมที่เคยขึ้นชื่อว่ามีฐานเงินเดือนสูงก็กำลังได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของนานาชาติ โดยเฉาะอุตสาหกรรมน้ำมัน แก๊ส และไอที

ในเดือนเมษายน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวลงถึง 11.2% ในปี 2022 ซึ่งจะนับว่าเป็นการถดถอยที่มากที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

การศึกษาต่อระดับสูงจะยากขึ้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกังวลถึงอนาคตด้านการศึกษาของรัสเซียจากการที่ประเทศมีแผนที่จะออกจาก ‘กระบวนการโบโลญญา’ (Bologna Process) ซึ่งเป็นมาตรฐานการศึกษาที่บังคับใช้ในยุโรป

การออกจากกระบวนการนี้จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ในรัสเซียที่ต้องการศึกษาต่อในยุโรปเป็นไปได้ยากขึ้นมาก โดยเฉพาะระดับวิชาชีพหรือปริญญาเอก เพราะการเปลี่ยนกลับไปใช้มาตรฐานการศึกษาแบบสหภาพโซเวียตจะทำให้มหาวิทยาลัยในยุโรปตรวจสอบข้อมูลรองรับทางวิชาการได้ยากขึ้น

โลห์เซนกล่าวว่า”เรากำลังเจอกับการทำให้ระบบการศึกษากลายเป็นการเมือง โดยจะเปลี่ยนไปเป็นการยอมรับเรื่องราวที่บอกกล่าวโดยรัฐบาล และไม่ยอมรับข้อสังสัยหรือทางเลือกอื่น ๆ ไปถึงขั้นลงโทษผู้ที่แตกแถว”

ฮัสซัน มาลิก (Hassan Malik) นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในบอสตัน กล่าวว่าเขาได้เข้าร่วมงานประชุมกับสถาบันต่าง ๆ ในรัสเซียและต่างประเทศ และคิดว่าการแสดงความเห็นอย่างเปิดกว้างจะเป็นไปได้ยากขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียให้ประกาศใช้กฎหมายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่จะตัดสินจำคุกสูงสุด 15 ปี ต่อผู้ที่จงใจเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ เกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย

ชาวรัสเซียที่ไม่พอใจเกี่ยวกับการทำสงครามได้ทยอยออกจากประเทศไปตั้งแต่การเริ่มสงคราม แต่ก็ยังมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติทำให้ข้อปฏิบัติทั่วไปอย่างการขอวีซ่า หางาน หรือการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินนั้นเป็นไปได้ยากขึ้นสำหรับชาวรัสเซีย

ส่วนภายในประเทศก็ยังคงมีการสนับสนุนสงครามอยู่ โดยช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ศูนย์สำรวจอิสระเลวาดา (Levada Center) ได้ทำการสำรวจชาวรัสเซียอายุ 18 ถึง 24 ปี จำนวน 1,634 คน และพบว่า 60% ยังสนับสนุนให้มีการทำสงคราม

ที่มา: Business Insider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส