วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี ผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย ซึ่งพบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้น ขณะนี้กำลังหลบหนีการรักษา

รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดภูเก็ตว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง จึงได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค โดยต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม ผลจากห้องปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า พบเชื้อ Monkeypox Virus ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม ยืนยันผลอีกครั้ง โดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และวันที่ 21 กรกฎาคม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศเป็นผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ล่าสุด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ชี้แจงว่าภายหลังทราบผลจากห้องปฏิบัติการ ได้มีการติดต่อประสานงานเพื่อนำตัวผู้ป่วยชาวไนจีเรียที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมารักษา แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ด้าน พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผู้ป่วยชาวไนจีเรียเดินทางออกจากโรงพยาบาล ในช่วงเย็นของวันที่ 16 กรกฎาคม โดยมีประวัติเข้า-ออก คอนโดฯ ที่พัก เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 18 กรกฎาคม ผู้ป่วยชาวไนจีเรียเดินทางออกจากคอนโดฯ ที่พักไป

ช่วงเวลา 19.00 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม พบตัวผู้ป่วยอีกครั้งที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยเช็กอินเข้าพักโดยแสดงหน้าพาสปอร์ตจากรูปในโทรศัพท์มือถือ ชำระค่าที่พักเป็นเงินสด แล้วหลังจากนั้นไม่มีการติดต่อกับใครอีก หรือเดินทางออกนอกห้องพัก ต่อมาเมื่อเวลา 21.00 น ของวันที่ 19 กรกฎาคม โดยผู้ป่วยนำกุญแจห้องพักออกมาวางไว้ที่ล็อบบี้ของโรงแรม หลังจากนั้นไม่มีใครพบเห็นผู้ป่วยรายดังกล่าวอีก

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า มีรายงานจากชุดสืบสวนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันบูรณาการติดตามตัวผู้ป่วยชาวไนจีเรียรายดังกล่าว พบว่าผู้ป่วยได้หลบหนีออกจากพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไปแล้ว ขณะนี้กำลังเร่งประสานการสืบหาตัวชายคนดังกล่าวต่อไป

สำหรับโรคฝีดาษลิงนั้น นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก และไม่ควรตีตราหรือลดทอนคุณค่าผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวว่ามาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ยังใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยต้องเน้นล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง

ที่มา : Phuket Times ภูเก็ตไทม์, กรมควบคุมโรค