ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ต้องยืนยันตัวตนผู้ฝากเงินสดด้วยบัตรเดบิต (Debit) หรือบัตรเครดิต (Credit) และใส่ PIN ก่อนทำรายการฝากเงินสดที่เครื่องอัตโนมัติ (CDM) และเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (CDM/ATM Recycling) ทุกครั้ง

มาตรการดังกล่าวของ ปปง. อยู่ภายใต้โครงการ CDM AMLO ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามการฟอกเงินผ่านเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปปง. ตรวจพบว่า เมื่อไม่มีการยืนยันตัวตนผู้ฝากเงินสดก่อนทำรายการ เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติจึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ผู้ก่ออาชญากรรมยาเสพติดและการพนันใช้ในการฟอกเงิน

ธนาคารกรุงไทย ซึ่งถือเป็นธนาคารแรกที่ดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าว ระบุว่า “เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ตามกฎเกณฑ์หน่วยงาน ปปง. ลูกค้าต้องเสียบบัตร Debit หรือ Credit และใส่ PIN ของผู้ฝากก่อนการฝากเงินสดที่เครื่องอัตโนมัติของทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตในการยืนยันตัวตน ซึ่งออกโดยธนาคารใดก็ได้ จาก 11 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์

ในกรณีที่ลูกค้า ไม่มีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต จะไม่สามารถฝากเงินที่เครื่องอัตโนมัติได้ และต้องไปฝากเงินสดที่สาขาของธนาคาร หรือตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการแต่งตั้ง (Bank Agent) พร้อมกับแสดงบัตรประชาชน ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมในการฝากเงิน

มาตรการดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มลูกค้าของธนาคารและประชาชนทั่วไป เนื่องจากมองว่าการใช้งานบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตนั้น มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมการใช้งาน และไม่ใช่ว่าลูกค้าของธนาคารทุกคนจะมีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ดังนั้น จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำบัตรดังกล่าวมาใช้เพื่อการนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนะให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทน หาก ปปง. ต้องการให้มีการยืนยันตัวตน

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การยืนยันตัวตนของผู้ทำรายการฝากเงินเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ประชาชนที่ไม่มีบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต สามารถฝากเงินโดยใช้บัตรประชาชนผ่านช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากฝากที่สาขาธนาคารได้ ได้แก่ ตู้เติมเงิน, เคาน์เตอร์ของร้านสะดวกซื้อ, ไปรษณีย์ และ Bank Agent

ทั้งนี้ ธปท. ยืนยันว่า จะเร่งรัดให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะไม่ใช่บัตร (Cardless) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเร็วต่อไป

ที่มา : ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย