นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Bangkok Digital Finance Conference 2022 ว่า โครงการระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-LG on Blockchain ของธนาคาร 18 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BCI ได้ผ่านการทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ธปท. แล้ว และพร้อมให้บริการในวงกว้าง

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการ e-LG on Blockchain เกิดจากความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ไทยผ่านการจัดตั้ง BCI เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการให้บริการหนังสือค้ำประกัน หรือ Letter of Guarantee (LG) ที่เดิมนั้นออกในรูปแบบกระดาษ ซึ่งใช้เวลานานและมีโอกาสเกิดทุจริตได้ง่าย

โดย BCI ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีจุดเด่นในด้านความโปร่งใส และการป้องกันการลักลอบแก้ไขข้อมูลมาประยุกต์ให้สามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารที่เป็นสมาชิกของ BCI ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการขอหนังสือค้ำประกันจาก 3 – 7 วัน เหลือเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง รวมทั้งลูกค้าที่เป็นองค์กรสามารถบริหารจัดการหนังสือค้ำประกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

โครงการนี้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหนังสือค้ำประกันในระบบ e-LG กว่า 100,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนสมาชิกของ BCI มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง, หน่วยงานภาครัฐ 3 แห่ง, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง และองค์กรภาคเอกชนกว่า 170 ราย โดยแพลตฟอร์มของ BCI มีศักยภาพที่จะรองรับ Use Cases อื่น ๆ ที่หลากหลายในอนาคต และสามารถพัฒนาเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและประเทศไทย   

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประยุกต์ใช้บล็อกเชนสำหรับโครงการดังกล่าว ธนาคารที่เข้าร่วมทดสอบและ BCI ต้องผ่านการประเมินภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. อย่างเข้มข้นก่อน ทั้งเรื่องการกำกับดูแลโครงการ} เสถียรภาพของเทคโนโลยี รวมถึงความปลอดภัยด้าน IT จนมั่นใจได้ว่าพร้อมให้บริการในวงกว้างได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ธปท. ก็ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทดสอบโครงการดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับการให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสงค์นำบล็อกเชนมาใช้ให้บริการทางการเงินในอนาคต สามารถนำไปใช้อ้างอิงต่อไปได้