ในยุคที่ผู้คนแสวงหาแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หนึ่งในชื่อที่หลายคนพูดถึงย่อมต้องมี ‘เชื้อเพลิงไฮโดรเจน’ ปรากฎอยู่ เนื่องจากเชื้อเพลิงชนิดนี้ มีการเผาไหม้ที่สะอาด ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นตอของภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

แต่ทำไม ‘เชื้อเพลิงไฮโดรเจน’ จึงยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย? ทั้งที่มีการคิดค้นขึ้นมาแล้วมากกว่า 70 ปีแล้ว คลิปนี้เราบรีฟให้ทุกคนเข้าใจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน!

ไฮโดรเจนคืออะไร ?

ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุดและถูกพบมากที่สุดในเอกภพ รวมถึงยังเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O) สารประกอบที่มีมากที่สุดในโลก โดยคุณสมบัติทั่วไปของไฮโดรเจนเป็นธาตุที่อยู่ได้ในทั้ง 3 สถานะ คือของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยเปลี่ยนสถานะไปตามอุณหภูมิและแรงดัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่เป็นพิษ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนเลือกให้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็นแหล่งของพลังงานที่สำคัญในอนาคต

พลังงานไฮโดรเจนมีมามากกว่า 70 ปีแล้ว

การนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในปี 1931 บริษัท ลุฟท์ชิฟเบา เซ็พเพอลีน (Luftschiffbau Zeppelin GmbH) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ได้เริ่มสร้างเรือเหาะฮินเดนบวร์ก (Hindenburg) ซึ่งลอยได้ด้วยก๊าซไฮโดรเจน และทำการบินครั้งแรกในปี 1933

ต่อมาในปี 1950 องค์การนาซา (NASA) ก็เริ่มใช้ไฮโดรเจนเหลว (Liquid Hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงให้กับจรวด และยังเป็นกลุ่มแรก ๆ อีกด้วยที่ใช้ ‘เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน’ หรือ Hydrogen Fuel Cells เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยนาซานำเชื้อเพลิงดังกล่าวมาใช้กับระบบไฟฟ้าบนยานอวกาศ

โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่ไฮโดรเจนถูกใช้เป็นเชื้อเพลิง คือ ปริมาณพลังงานสูงต่อหน่วยน้ำหนัก ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงเหมาะมากที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานให้กับจรวจ และยานอวกาศที่ต้องการใช้พลังงานมหาศาล แต่มีพื้นที่ในการบรรทุกเชื้อเพลิงจำกัด รวมถึงน้ำหนักที่ต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกยามปล่อยตัว

พลังงานไฮโดรเจนมี 3 ประเภท

ปัจจุบัน เชื้อเพลิงไฮโดรเจนถูกผลิตจาก 3 กระบวน ทำให้เราสามารถแบ่งประเภทของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็น 3 สี ตามระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกระบวนการผลิต คือ

ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) : เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ถูกผลิตจากกระบวนการเปลี่ยนรูปสารไฮโครคาร์บอนด้วยไอน้ำ (Steam Methane Reforming) ซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน โดยกระบวนการนี้จะได้ผลผลิตหลัก คือ ก๊าซไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ก็จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมด้วย ดังนั้น หลายคนจึงคัดค้านที่จะนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเทามาใช้งานอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากกระบวนการผลิตยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) : มีกระบวนการผลิตที่คล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา แต่มีการกักเก็บและดักก๊าซคาร์บอนระหว่างการผลิตลงไปในดิน ด้วยเทคโนโลยี CCS หรือ Carbon Capture & Storage ซึ่งดักเก็บก๊าซเอาไว้ได้ถึง 90% เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนแบบอื่น ๆ ได้ ทำให้การผลิตไฮโดรเจนสีน้ำเงินนั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฮโดรเจนสีเทา

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) : เป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาดที่หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยไฮโดรเจนสีเขียวนั้น ผลิตขึ้นจากกระบวนการผ่านกระแสไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน เรียกว่า “Electrolysis” ซึ่งการผลิตไฟฟ้านั้นก็ต้องมาจากพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือพลังงานอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

อนาคตของพลังงานไฮโดรเจน

แม้ว่าไฮโดรเจนสีเขียวจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงมาก จนไม่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้หลายประเทศเร่งวิจัยและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในรูปแบบต้นทุนต่ำกันมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำของสหรัฐฯ พร้อมที่จะลงนามในพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งมีโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ โดยมีการเสนอเครดิตภาษี 3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม สำหรับการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว

หรือภาคเอกชนอย่าง Toyota ที่ประกาศร่วมมือกับ Isuzu ในการพัฒนารถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวรถบรรทุกเล็กในญี่ปุ่น ภายในปี 2023 นี้

อุปสรรคของพลังงานไฮโดรเจน

นอกจากกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูง และยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% แล้ว เชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีคุณสมบัติในการกัดกร่อน จึงทำให้ยากที่จะเก็บและขนส่ง ดังนั้น การจะนำเชื้อเพลิงชนิดนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย แม้จะคาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อไร แต่ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก คิดว่าอีกไม่นานนี้ พวกเราน่าจะได้ใช้พลังงานสะอาดนี้กัน!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส