ทิฟฟินแล็บส์ (TiffinLabs) ฟู้ดเทคสตาร์ทอัป เจ้าของแบรนด์อาหารชั้นนำจากสิงค์โปร์ เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการในประเทศไทย พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ Virtual Restaurant Brands ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์อาหารรูปแบบใหม่ที่เน้นเจาะตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยมีจุดเด่นคือการขยายธุรกิจผ่านการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำแบรนด์อาหารเดลิเวอรี่ในเครือทิฟฟินแล็บส์ไปเปิดขายในร้านอาหารของตนเอง เพื่อสร้างกำไรเพิ่มให้กับร้านอาหารจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ครัว และพนักงาน โดยทางทิฟฟินแล็บส์ได้นำร่องส่ง 6 แบรนด์อาหารในเครือเจาะตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งปัจจุบันเปิดแล้วกว่า 100 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

โมเดล Virtual Restaurant Brands มีหลักการคล้ายกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ แต่จะเน้นไปที่การพัฒนาแบรนด์อาหารสำหรับฟู้ดเดลิเวอรี โดยทิฟฟินแล็บส์จะทำหน้าที่คิดค้นและพัฒนาแบรนด์อาหารให้เหมาะกับการทำ    เดลิเวอรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ การออกแบบเมนูให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ การคัดสรรรูปแบบแพคเกจจิ้งที่เหมาะสำหรับการเดลิเวอรี การคำนวณต้นทุนที่แสดงให้เห็นผลกำไรชัดเจน ไปจนถึงการทำการตลาดเพื่อ        โปรโมทแบรนด์อาหารกับกลุ่มผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการร้านอาหารมีหน้าที่แค่ประกอบอาหารตามขั้นตอนของแบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์จากอุปกรณ์ครัว และพนักงานที่มีอยู่ และเปิดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีควบคู่ไปกับการทำร้านอาหารของตัวเอง

ปัจจุบัน ทิฟฟินแล็บส์ เป็นบริษัท Virtual Restaurant ชั้นนำในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด 20 แบรนด์ ซึ่งได้มีการนำมาเปิดตลาดในประเทศไทยด้วยกันทั้งหมด 6 แบรนด์ ได้แก่

  1. แฟตฟิงเกอร์ (Phat Fingers) ไก่ทอดสไตล์เกาหลี
  2. เซาท์เทิร์นโซล (Southern Soul) ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน
  3. พาสต้าเทเบิ้ล (Pasta Table) สปาเก็ตตี้สไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด
  4. โปเตโต้ แล็บ (Potato Lab) เฟรนช์ฟรายส์และเมนูทานเล่นต่างๆ 
  5. ย่างดี (Yang Dee by Phat Fingers) ข้าวหน้าปิ้งย่างสไตล์เกาหลี 
  6. ภูมิใจไก่ทอด (Phum Jai)  ไก่ทอดสไตล์ไทย

คุณภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย (นันท์) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทิฟฟินแล็บส์เผยว่า “สถานการณ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งในขณะที่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราพบว่ามีธุรกิจร้านอาหารจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กลับประสบปัญหาในการบริหารจัดการที่ไม่สามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบรับความต้องการและพฤติกรรมในการสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ของผู้บริโภคได้ และทำให้พลาดโอกาสในการสร้างรายได้ไปอย่างมหาศาล ด้วยการเล็งเห็นปัญหาข้างต้น ทิฟฟินแล็บส์จึงได้บุกเบิกโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Virtual Restaurant Brands ซึ่งจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารในการสร้างรายได้เพิ่มจากการนำแบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์ไปเปิดขายในร้านของตัวเองผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ โดยหลังจากเปิดตัวธุรกิจครั้งแรกที่ประเทศสิงค์โปร์ในปี 2563 แบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์ สามารถสร้างสถิติในการขยายจำนวนสาขาบนช่องทางเดลิเวอรี่ ติด 10 อันดับแรกในประเทศสิงค์โปร์ จากความสำเร็จนี้ จึงทำให้เราได้ขยายธุรกิจต่อมาที่ประเทศมาเลเซียและไทย”

คุณภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย (นันท์) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทิฟฟินแล็บส์

ด้านคุณพีรพัฒน์ เจียประเสริฐ (ชิน) ผู้จัดการทั่วไป ทิฟฟินแล็บส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “หลังจากทิฟฟินแล็บส์เริ่มเข้ามาทดลองตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เราได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย จนทำให้ปัจจุบันเรามีสาขารวมแล้วกว่า 100 สาขาทั่วกรุงเทพฯ โดยผู้ประกอบการบางส่วนสามารถทำรายได้เพิ่มสูงถึง 30% ทั้งนี้ เรามีแผนที่จะขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดในปีนี้ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 แบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์จะต้องมียอดขายติด 15 อันดับแรกในแต่ละประเภทอาหารบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีชั้นนำ”

คุณพีรพัฒน์ เจียประเสริฐ (ชิน) ผู้จัดการทั่วไป ทิฟฟินแล็บส์ ประเทศไทย

“ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ ด้วยมูลค่าตลาด 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 123,000 ล้านบาท) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราเชื่อว่า ทิฟฟินแล็บส์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกล จากการเดินหน้าขยายแบรนด์อาหารใหม่ ๆ และเพิ่มจำนวนสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง”   คุณภูมินันท์ กล่าวปิดท้าย