สองยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกเสื้อผ้าระดับโลกอย่าง มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ (Marks & Spencer) ของอังกฤษ และฟาสต์ รีเทลลิง (Fast Retailing) เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ (Uniqlo) จากญี่ปุ่น ประกาศถอนธุรกิจและการลงทุนออกจากประเทศเมียนมา เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม และความไม่สงบทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 กองทัพเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน จึงทำให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามที่รุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในเมียนมา ส่งผลให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากประกาศถอนธุรกิจและการลงทุนออกจากเมียนมา เพื่อแสดงการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยบริษัทที่ประกาศถอนธุรกิจออกจากเมียนมาแล้ว ได้แก่ คิริน โฮลดิ้งส์ (Kirin Holdings) บริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่น, โททาล เอนเนอร์ยีส์ (Total Energie) บริษัทพลังงานของฝรั่งเศส และเชฟรอน คอร์ปอเรชัน (Chevron Corporation) บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ อมตะ จากประเทศไทย

แม้ว่าจะต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม แต่ Marks & Spencer และ Uniqlo ซึ่งมีการจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าในเมียนมาจำนวนมาก ยังลังเลที่จะถอนธุรกิจออกจากเมียนมา เนื่องจากต้องการสร้างรายได้ให้ชาวเมียนมาในช่วงเวลาที่มีความลำบาก

ความตั้งใจของสองยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกเสื้อผ้าระดับโลกนั้นไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวัง เนื่องจากเจ้าของโรงงานเสื้อผ้าในเมียนมาจำนวนมากมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการกดค่าแรง และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ทำให้ Marks & Spencer และ Uniqlo ตัดสินใจประกาศถอนธุรกิจและการลงทุนออกจากเมียนมาในที่สุด

โดย Marks & Spencer ซึ่งออกมาประกาศตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเดือนมีนาคม ปี 2023 คือเดือนสุดท้ายของบริษัทฯ ที่จะดำเนินการในเมียนมา ในขณะที่สินค้าของ Uniqlo ล็อตสุดท้ายที่จะผลิตในเมียนมา คือ คอลเล็กชัน Fall/Winter 2023 

ทางด้าน มูจิ (Muji) บริษัทขายของใช้ภายในบ้านจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะยุติการสั่งซื้อแจ็กเก็ตขนเป็ดและสินค้าอื่น ๆ ทั้งหมดจากเมียนมาภายในเดือนสิงหาคม ปี 2023 ในขณะที่ ไพร์มาร์ก (Primark) ร้านค้าปลีกฟาสต์แฟชั่นสัญชาติไอริชก็ออกมาประกาศถอนธุรกิจออกจากเมียนมาภายในปี 2023 เช่นกัน

ความเคลื่อนไหวของบรรดาแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะล่าช้ากว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ นั้น เป็นผลมาจากการที่เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำ ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตในทันทีอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตสินค้า และต้นทุนที่อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ไม่อาจเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะปัญหาด้านค่าแรง ซึ่งสหภาพแรงงานอ้างว่าพวกเขาไม่อาจต่อรองเรื่องค่าจ้างได้อย่างปลอดภัยภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร รวมถึงสถานการณ์พลังงานที่มีความไม่แน่นอนสูง และเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการผลิต ทำให้บรรดาแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าจำเป็นต้องประกาศถอนธุรกิจในที่สุด

ที่มา : Nikkei Asia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส