ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์อันดับ 1 ของไทย โดยครองสัดส่วนการส่งออกมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ตลาดที่สำคัญนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายที่น่ากังวล เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการไต่สวนขั้นต้นกรณีผู้ผลิตโซลาร์เซลล์จีนบางราย ได้ใช้ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า

การไต่สวนดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2022 และคาดว่าผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายจะถูกประกาศในต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2023 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน ปี 2024 หลังครบกำหนดคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ยกเว้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศในอาเซียน คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ มีเวลาปรับตัว เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นเองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เลื่อนการประกาศผลไต่สวนขั้นสุดท้ายจากต้นเดือนพฤษภาคม เป็นกลางเดือนสิงหาคม ปี 2023 แล้ว

solar cell system renewable green energy

ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ผลกระทบต่อการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2023 น่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากในช่วงเวลานี้ อัตราภาษียังได้รับการยกเว้นตามคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ น่าจะยังคงนำเข้าสินค้าจากผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้าเดิมอยู่

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากการไต่สวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐฯ มีความเห็นต่างต่อคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) จนนำมาสู่การลงมติยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ มติของรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ถูกประธานาธิบดีใช้สิทธิ์ยับยั้ง (คำสั่ง Veto) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ความไม่แน่นอนในตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ อาจจะเริ่มพิจารณาปรับ หรือเพิ่มทางเลือกของแหล่งนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของตนเร็วกว่าที่คาดไว้ คือ ช่วงต้นปี 2024 ที่คำสั่งยกเว้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีใกล้หมดความคุ้มครอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านธุรกิจ โดยเฉพาะการปรับไปนำเข้าจากแหล่งใหม่อย่างอินเดีย

โดยตลาดที่ผู้นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ หมายตาคงหนีไม่พ้น ‘อินเดีย’ เนื่องจากพบสัญญาณการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 ที่แซงหน้าเกาหลีใต้ และขึ้นมาครองส่วนแบ่งการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 5 โดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับมาเลเซียและกัมพูชา

แม้ว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในอินเดียต้องอาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากจีน จนทำให้มีต้นทุนสูงกว่าอาเซียน และมีราคาต่อหน่วยสูงกว่าประมาณ 10% แต่ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในอินเดียนั้นมีหลากหลายสัญชาติ ทั้งอินเดีย สหรัฐฯ และจีน รวมถึงการที่สหรัฐฯ พิจารณาแล้วว่าอินเดียอยู่นอกข่ายเลี่ยงภาษีนำเข้า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผู้นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ จึงหมายตาดินแดนภารตะแห่งนี้

female-planning-environment-projects

ประเด็นถัดมา คือ ผลการไต่สวนขั้นต้นที่ประกาศช่วงปลายปี 2022 ที่ระบุว่า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จีนบางส่วน โดยเฉพาะที่อยู่ในเวียดนามถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษีนำเข้า ผู้ผลิตจีนจึงเริ่มขยับไปใช้ฐานประกอบในอินเดีย เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งผลให้ยอดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2023 มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนราว 11.8%

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่พบสัญญาณการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตจีนในประเทศที่ถูกไต่สวนอื่น ๆ คือ ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา แต่ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตว่า ผู้ผลิตจีนที่เข้าข่ายเลี่ยงเลี่ยงภาษีนำเข้า อาจทยอยพิจารณาใช้แนวทางเดียวกันกับผู้ผลิตจีนในเวียดนาม เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

ปัจจุบัน ผู้ผลิตจีนบางรายที่มีฐานอยู่ในไทย มักมีการลงทุนโรงงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์ในอินเดีย เพื่อป้อนตลาดท้องถิ่น ทำให้การปรับแผนการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะทำได้ไม่ยาก และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ คือ ช่วงต้นปี 2024 ที่คำสั่งยกเว้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีใกล้หมดความคุ้มครอง

ทำให้ผลกระทบต่อตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยนั้น อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2023 จะเติบโตเพียง 30% คิดเป็นมูลค่า 1,622 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราว 57% หากผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานปี 2024

แม้จะมีปัจจัยกดดันและอัตราการเติบโตที่มีแนวโน้มชะลอตัว แต่ตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าในจังหวะที่ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ กำลังปรับตัว เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นเองภายในประเทศ

ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศผ่านนโยบายพึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กฎหมายเข้ามาสนับสนุน คือ กฎหมายจัดการเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่ให้สิทธิประโยชน์หลากหลาย ทั้งการลดหย่อนภาษีและเครดิตเงินคืน

ซึ่งการเดินหน้าอย่างเต็มกำลังของรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีกฎหมาย มาตรการ หรือนโยบายสนับสนุนการพึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของไทยที่พึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ควรเร่งปรับตัว เพื่อลดความเสี่ยงด้านธุรกิจอย่างยั่งยืน

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส