สถานการณ์แบบนี้ จะมีใครคิดทำมาหากินกับวัคซีนหรือ?

คำตอบชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อสังเกตเรื่องปัญหาการเข้าถึงและกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เท่าเทียมทั้งในระดับโลกไปจนถึงระดับชุมชน ที่มีความลักลั่นและมีปมให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันได้สนุกปาก ทั้งที่มันควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน เป็นเครื่องมือที่ช่วยชีวิตผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนที่ร่ำรวยหรือคนที่เปราะบางที่สุดก็ตามที

แต่ทุกวันนี้ วัคซีนโควิด-19 ก็คือ ’สินค้า’ อยู่ดี ซึ่งตัวเลขราคาขาย กำไร ขาดทุน ก็ยังมีอิทธิพลสูงสุดเสมอ  

ต้องยอมรับว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างร้อนแรง ผู้คนมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตนอกบ้าน ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ก็เพราะพลังของวัคซีนที่เอาชนะความหวาดกลัวจากตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตที่สูงที่สุดในโลกที่กระจายฉีดให้ประชาชนได้วันละหลายล้านโดส โดยผู้เชี่ยวชาญปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% ในปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ 6.5%

ตัวละครที่สำคัญก็คือยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยาสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘ไฟเซอร์’ (Pfizer) นี่ล่ะ

ดร.อัลเบิร์ต เบอร์ลา (Albert Bourla) ซีอีโอของไฟเซอร์

ผลประกอบการของไฟเซอร์ดีวันดีคืน จากเดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดว่าจะทำรายได้ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ต่อมาในเดือนพฤษภาคมก็ปรับตัวเลขคาดการณ์รายได้สูงขึ้นเป็น 2.6 หมื่นล้านเหรียญหรือเกือบ 800,000 ล้านบาท หลังจากตัวเลขยอดขายในไตรมาสที่ 1 ปีนี้เติบโตเกินคาดที่ 14,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และความต้องการวัคซีนจากทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องไปอีกหลายปี ซึ่งสมหวังดั่งใจ ดร.อัลเบิร์ต เบอร์ลา (Albert Bourla) ซีอีโอของไฟเซอร์ที่ยืนกรานตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่า บริษัทควรจะทำกำไรจากการขายวัคซีนเพราะเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนคิดและทำกันมา ไม่ใช่เรื่องที่จะผลิตวัคซีนเพื่อการกุศลหรือไม่มีกำไรเสียหน่อย

แม้ผู้บริหารของไฟเซอร์จะเคยแถลงว่าจะขายวัคซีนราคาสูงให้กับประเทศร่ำรวย ขายลดราคาครึ่งหนึ่งให้กับประเทศกำลังพัฒนาและจะขายวัคซีนในราคาทุนให้กับประเทศยากจน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่าให้ความสำคัญกับการขายวัคซีนให้ประเทศขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากกว่าจะกระจายให้กับประเทศขนาดเล็กอย่างชัดเจน แม้เบอร์ลาจะอ้างว่าเพราะประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำไม่ยอมสั่งซื้อเองก็ตามที 

“ทางเราได้ติดต่อทุกประเทศเพื่อสอบถามการสั่งซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งอันที่จริงก็มีแต่ประเทศที่มีรายได้สูงที่จองวัคซีนของไซเฟอร์เป็นส่วนใหญ่ ผมก็กังวลกับเรื่องนี้นะ เลยติดต่อไปยังผู้นำประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลางทั้งหลาย ทั้งโทรศัพท์ ส่งจดหมาย หรือส่งข้อความไปหาเพื่อเรียกร้องให้พวกเขาจองวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากมีจำกัดจริง ๆ” เขากล่าวในจดหมายที่เขียนถึงพนักงาน

ขายนะ แต่ไม่ได้มาขอซื้อเองนี่นา

หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ไฟเซอร์ทำก็เหมือนกับสิ่งที่บริษัทเอกชนทั่วไปทำตามตำราการบริหารธุรกิจดังเดิม นั่นคือเน้นขายสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าที่จ่ายราคาสูงกำไรดี มากกว่าขายสินค้าให้กับลูกค้าเงินน้อยที่ต้องขายให้ในราคาต่ำเนื่องจากมีคำว่า ‘จริยธรรม’ ค้ำคออยู่

แต่ทุกวิกฤติเราก็ยังเห็นพฤติกรรม ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ อยู่เสมอ

ความเคลื่อนไหวของซีอีโอไฟเซอร์อยู่ในสายตาของนักข่าวมาโดยตลอด หลังจากที่ผลการทดสอบวัคซีนร่วมกับพันธมิตรเยอรมนี ไบโอเอ็นเทค (BioNtech) ดูเข้าท่า มีประสิทธิภาพกว่า 90%  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา จากนั้นราคาหุ้นของไฟเซอร์ก็ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 15% ซึ่งไม่เหนือความคาดหมายที่ไม่กี่วันต่อมาเบอร์ลาจะขายหุุ้นของไฟเซอร์ที่ถืออยู่เพื่อทำกำไรคิดสัดส่วนเป็น 62% ของที่เขามีทั้งหมด แปลงเป็นเงิน 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 170 ล้านบาทมาเก็บไว้ในมือ   

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักบริหารมืออาชีพที่รอบจัด และเก่งกาจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ โดยแท้ 

หากลองเปรียบเทียบข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ พบว่ารัฐบาลของอิสราเอลซึ่งเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้ทะลุ 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ยอมควักเงินซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ในราคา 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อโดส ซึ่งสูงกว่าราคาที่ขายให้กับรัฐบาลของอเมริกาเองเกือบเท่าตัว 

เรื่องวัคซีนโควิด-19 นี้จะมองแต่ผู้ขายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฝั่งผู้ซื้อก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีรายงานออกมาว่าประเทศร่ำรวยอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ ตอนนี้สั่งจองวัคซีนล่วงหน้าต่อเนื่องยาวออกไป 2-3 ปีแล้ว ซึ่งไฟเซอร์ร่วมกับไบโอเอ็นเทคจะกระจายวัคซีนให้กับยุโรปมากถึง 1,800 ล้านโดส โดยทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงปี 2023 และจัดส่งให้กับแคนาดา 125 ล้านโดสก่อนในเบื้องต้น หากรวมตัวเลขการสั่งซื้อวัคซีนของประเทศร่ำรวยทั้งหลายจะสูงแตะ 6,000 ล้านโดส ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่รายได้ปานกลางจนถึงต่ำกลับมียอดสั่งซื้อเพียง 3,000 ล้านโดส ทั้งที่ประชากรมีเยอะมากกว่าหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี ไฟเซอร์บอกว่าจะส่งวัคซีนให้ COVAX โครงการความร่วมมือวัคซีนนานาชาติที่ผลักดันโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อประเทศยากจน จำนวน ‘40 ล้านโดส’ และสัญญาว่าจะส่งได้รวม 2,000 ล้านโดสภายใน 2 ปีนี้ ขณะที่โมเดอน่าจะส่งให้ COVAX 34 ล้านโดสในสิ้นปีนี้เช่นกัน 

แน่อนว่าราคาขายและกำไรจากวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวยนั้นสูงกว่าที่ขายให้ประเทศยากจนมาก จึงไม่แปลกที่จะเห็นประเทศฝั่งตะวันตกมีวัคซีนให้ฉีดกันอย่างเหลือเฟือและผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันออกที่ยังต้องรับมือกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าและทำได้เพียงแต่รอวัคซีนที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่และมาเท่าไหร่จริง ๆ

ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะสามารถมีภูมิต้านทานได้ยาวนานแค่ไหน ฉีดแล้วจบเลยหรือไม่ หรือว่าต้องกลับมาฉีดใหม่ทุกปีหรือตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนด โรคโควิด-19 จะยังคร่าชีวิตของผู้คนต่อไป คนที่มีเกราะกำบังก็ทนทาน อยู่รอดได้มากกว่าคนที่เดินตัวเปล่า มือเปล่าเสมอ

เราต้องไม่ลืมว่า “นี่มันโลกของทุนนิยม”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส