หลังจากที่รายการข่าวทันสมัยยามเช้า beartai BRIEF เสิร์ฟอาหารสมองยามเช้า อัปเดตข่าวทันสมัย เทคโนโลยี วิทยาการ สถานการณ์โลก และความเคลื่อนไหวในแวดวงต่าง ๆ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 7 โมงเช้าซึ่งนอกจาก 6 ทาเลนต์คนข่าวมืออาชีพ และซีอีโอผู้ช่ำชองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเสิร์ฟข่าวเล่าเรื่องแบบอัปเดต เติมมุมมองสดใหม่ในด้านที่ตนถนัดกันเป็นประจำทุกเช้าแล้ว

beartai BRIEF ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับ ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ หรือคุณอาร์ต ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด (CMO) บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SKY ICT’ ทาเลนต์คนใหม่ ที่จะเข้ามาเสริมทัพข่าวเช้า beartai BRIEF ให้มุมมองเกี่ยวกับด้านไอทีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ก่อนที่เขาจะมาเริ่มเสริมทีมข่าวเช้าในวันศุกร์ (11 มิถุนายน 2564) ที่จะถึงนี้ beartai BRIEF ขอถือโอกาสชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น จากมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำยุคในปัจจุบัน และมุมมองของข่าวที่น่าสนใจ เป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปพบกับมุมมองด้าน Tech คม ๆ ของเขาเป็นนัดแรกในวันศุกร์ที่จะถึงนี้


แนะนำตัวให้รู้จักหน่อยว่าคุณขยลเป็นใคร ทำอะไรอยู่ตอนนี้บ้าง

สวัสดีครับ ผม ‘ขยล ตันติชาติวัฒน์’ นะครับ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CMO หรือ Chief Marketing Officer (ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด) ให้กับ สกาย ไอซีที เป็นบริษัทมหาชน อยู่กับ SKY มาได้ 1 ปีแล้วครับ ก่อนหน้านี้ผมทำงานด้าน Prop Tech (เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์) ที่บริษัท AP (บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มาก่อน

ซึ่งบริษัท SKY ที่ผมทำอยู่ เป็นบริษัท System Integration ที่เอาเทคโนโลยีที่มีในตลาด ทั้งฮาร์ตแวร์ ซอฟต์แวร์ และส่งมอบโซลูชันด้านเทคโนโลยีให้กับลูกค้าของเรา ซึ่งลูกค้าของเราส่วนใหญ่ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก รวมทั้ง AOT (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด) เราเข้าไปดูแลเรื่องของเทคโนโลยีระบบกล้องวงจรปิด สายพานให้กับสนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งระบบคีออสที่สามารถให้ลูกค้าเช็กอินได้ด้วยตัวเองผ่านคีออสของเรา

อธิบายง่าย ๆ นะครับ ที่เราเข้าไปดูแลเรื่องของกล้องวงจรปิดสนามบิน ถ้าปกติมีแค่กล้องเฉย ๆ มันก็จะเป็นแค่เครื่องบันทึกภาพธรรมดา แต่สิ่งที่เราทำคือ เราเอา AI เข้าไปทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ ทำให้กล้องสามารถตรวจจับอะไรก็ได้ เช่นสมมติว่าเกิดเหตุร้ายในสนามบิน มีผู้ชายเสื้อสีเหลืองเข้าไปวางอะไรบางอย่างในสนามบิน การตรวจจับชายเสื้อเหลืองเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ถ้าหากต้องย้อนดูใน CCTV ธรรมดา แต่พอเราเอา AI ใส่เข้าไป จะทำให้กล้องสามารถจับภาพเฉพาะเหตุการณ์ที่ตรงกับเงื่อนไขคือ “ชายเสื้อเหลือง” ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการค้นหาว่าคนคนนั้นเป็นใคร ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับ Security ที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย

เป้าหมายของผมในการทำงานที่ SKY ก็คือการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจที่เราดูแลอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่ายังเป็นแผนที่เรากำลังพัฒนาอยู่นะครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มให้ใช้งานได้ง่าย ๆ เพราะคนที่ใช้งานก็คงเป็นคนระดับทั่ว ๆ ไป เช่นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพราะว่าความเป็นแพลตฟอร์มก็คือ การเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องโอนย้ายอะไรมาเลย

ขยล ตันติชาติวัฒน์

ในมุมมองของคุณขยล คิดว่าเทคโนโลยีโดยรวมของโลกตอนนี้เร็วแค่ไหน เทคโนโลยีอะไรที่คุณขยลมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังขับเคลื่อน หรือแม้แต่เปลี่ยนโลกในปัจจุบัน

ผมคงขอข้ามเรื่องบิตคอยน์ หรืออะไรพวกนี้ไปเลยนะครับ ส่วนตัวผมติดตามอยู่ แต่ไม่ได้เล่น ซึ่งผมคิดว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน (ฺBlockchain) ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบนี่แหละครับ แต่ผมคงไม่ได้จะลงลึกเท่าไหร่ ถ้าถามในมุมของผม ทั้งโลกตอนนี้ ชัดเจนเลยว่า โควิด-19 คือตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้เข้ามาใกล้ตัวคนมากขึ้น อย่างที่คุยกันตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเจอตัวกันอีกต่อไป มันก็คือเรื่องของการสื่อสารของคน

การเปลี่ยนแปลงที่ชัด ๆ แน่นอนคือ คนใช้ชีวิตเร็วขึ้นแน่นอน โทรศัพท์มือถือเปรียบเหมือนมือที่ 3 ของเราไปแล้ว และเป็นลักษณะของ On Demand (ตามสั่ง) ไปหมด เพราะทุกสิ่งอย่างตอนนี้มันอยู่ในแอปพลิเคชันหมดแล้ว กักตัวอยู่บ้าน เราอยากจะสั่งอาหารก็ได้ ชอปปิงออนไลน์ สั่งของให้มาส่งที่บ้านก็ได้ เพราะฉะนั้น โลกมันจึงหมุนเร็วขึ้นทันที เพราะมันออนไลน์ 24 ชั่วโมง

ยกตัวอย่าง ผมขอพูดเรื่องคริปโตฯ สั้น ๆ นะครับ เมื่อก่อนคนที่อยู่ในยุคของการเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จะต้องรอตอนเช้า แล้วก็รอตอนตลาดปิด แต่อย่างคริปโตฯ มันเปิดตลอด 24 ชั่วโมง บิตคอยน์จะตกลงมาต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเหรียญไหม คนที่เข้าช้อนไว้ก็อาจจะนอนไม่หลับไปเลย ตื่นนอนตอนเช้าก็ต้องมานั่งลุ้นกันอีกว่ามันจะตกลงไปอีกไหม มันคือมุมมองหนึ่งของโลกที่หมุนเร็วมาก

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราจำเป็นต้องรับข่าวสารตลอดเวลา สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเรื่องของข้อมูล โลกหมุนเร็วขึ้น ข้อมูลก็มากขึ้นตลอดเวลา ใครตามข้อมูลไม่ทันก็จะตกยุคไปในทันที ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากเร็วแล้ว ข้อมูลก็ต้องเชื่อถือได้ด้วย ทุกวันนี้คนเราอ่านแค่พาดหัวข่าวกันใช่ไหมครับ เพราะหน้าจอมือถือมันเล็กนิดเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย จากหัวข้อข่าวแค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งก็อาจจะต้องมีการคัดกรองข้อมูล ซึ่งต่อไปในอนาคต AI ก็อาจจะเข้ามาช่วยกรองหรือลบเฟกนิวส์ออกไป ซึ่งตอนนี้บางประเทศก็เริ่มใช้แล้ว ส่วนในบ้านเราก็กำลังจะเริ่มมีการจัดการเฟกนิวส์บ้างแล้ว

ขยล ตันติชาติวัฒน์

อีกเทคโนโลยีก็คือเรื่องของ AI และ Machine Learning ที่ผมเชื่อว่ามันจะเป็นคำตอบในการไปต่อในอนาคตข้างหน้า ซึ่งในตอนนี้ การที่เรายังไม่ค่อยเห็นความแม่นยำของ Machine Learning มากนัก เป็นเพราะเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลที่ยังไม่เป็นระบบมากนัก ยกตัวอย่างชัดเจนก็คือ ‘หมอพร้อม’ ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Real-Time จากทุกแหล่งข้อมูลกันได้อย่างที่มันควรจะเป็น

ผมยกตัวอย่างบางประเทศที่ควบคุมตรงนี้ได้นะครับ อย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลของคนภายในประเทศ สามารถรู้ประวัติการรักษาของคน ๆ นั้นได้ สมมติว่าจะมีการจ่ายวัคซีนให้กับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน แทนที่จะต้องกรอกเอง ก็จะมีเกณฑ์ในการวัด เช่น ถ้าคุณมีภาวะอ้วน ก็ต้องมีตัววัดว่า เท่าไรจึงจะเรียกว่าอ้วน เขาคงไม่ได้ให้คนของเขาตัดสินตัวเองว่าเขาเป็นหรือไม่เป็น แต่เขาใช้ฐานข้อมูลจากทั้งประเทศในการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเพื่อคัดกรองการฉีดวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก ๆ

ส่ิงเหล่านี้เป็น Data Infomaton ที่เอา AI เข้าไปจับด้วยการค้นหาจาก Keyword ซึ่งอันนี้เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น ยิ่งมีข้อมูลมาก AI ก็ยิ่งทำงานได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น และทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นไปด้วย อย่างเช่นวัคซีนโควิด ถ้ามีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน เช่นผลข้างเคียงต่าง ๆ ก็จะทำให้มีการออกวัคซีนเวอร์ชันใหม่ ๆ ออกมาอีก

ขยล ตันติชาติวัฒน์

คุณขยลคิดว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของข่าวในยุคนี้

สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ณ ตอนนี้คนเข้าถึงมีเดีย ก็คือ Social Media ได้แล้ว อย่าง Facebook เอง คนไทยก็เล่นกัน 90% แล้วใช่มั้ยครับ และระบบ AI ก็ช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้แล้ว สเต็ปต่อไปก็คงเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี่แหละครับ ข้อมูลที่ถูกต้อง จะทำให้คนติดตามคุณไปได้เรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาดไปนิดเดียว คนอาจจะหาว่าคุณเป็นไอโอหรือเปล่า (หัวเราะ) ไอโอในที่นี้คือ คุณเป็นแหล่งข่าวที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า

เพราะว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ข่าวแข่งขันได้ คงไม่ใช่แค่เรื่อง AI อย่างเดียว แต่มันมีเรื่องของการตลาด การเจาะกลุ่ม Focus Audience (กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย) ด้วย และข้อมูลที่ถูกต้องที่จะทำให้คนดูกลายเป็นแฟนคลับ และแฟนคลับก็จะกลายเป็น Influencer ในการแนะนำบอกต่อให้คนเข้ามาติดตามข่าวด้วยกัน

ทราบมาว่า คุณขยลเองก็ติดตาม #beartai และชมรายการข่าว beartai BRIEF ด้วย ชอบตรงไหน หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง

สำหรับผม beartai BRIEF หรือแม้แต่ #beartai เองก็เป็นสำนักข่าวที่อัปเดตได้ Real Time นะครับ ก่อนที่จะมาพูดคุยกันตรงนี้ ผมก็ใช้ #beartai นี่แหละในการมอนิเตอร์เทรนด์ที่กำลังจะมา เช่นเรื่องของงาน WWDC21 ของ Apple ก่อนที่จะมีการเปิดตัว #beartai ก็มีการสรุปให้ฟัง แต่จริง ๆ แล้วก่อนหน้าที่จะมีสรุป ก็จะมีข่าวให้อ่านก่อนแล้วว่ามีอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและตอบโจทย์สำหรับคนที่ตามข่าวเทคโนโลยีมาก ๆ ในจุดที่เป็นอยู่ตอนนี้นะครับ ส่วนเรื่องที่ปรับปรุง ผมเองก็ยังนึกไม่ออกนะครับว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

ขยล ตันติชาติวัฒน์

คำถามสุดท้าย คุณขยลคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ผมยกตัวอย่างเรื่อง NFT ก็แล้วกันนะครับ ที่พี่ต๊ะ (นารากร ติยายน) เคยพูดไว้ในรายการ ซึ่งจริง ๆ #beartai พูดมานานมากแล้วนะครับ ผมเองก็อยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวกับ NFT สิ่งที่ผมเห็นก็คือ พอ #beartai ลงเนื้อหาเกี่ยวกับ NFT ซึ่งแต่ก่อนเขาอาจจะขายงานศิลปะ แต่ก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน แต่พอ #beartai มีเรื่องนี้ขึ้นมา คนที่เป็นศิลปินที่อาจจะมีรายได้ไม่เยอะ เขาก็สามารถเข้าใจว่า NFT คืออะไร รู้แม้กระทั่งว่าจะเอางานของตัวเองเข้าไปเทรดใน NFT Market ได้ยังไง ซึ่งพอมีการประมูล ราคาก็พุ่งขึ้นไปเกินคาดมาก ๆ

แล้วสุดท้ายเขาก็โพสต์ขอบคุณ ในฐานะที่สื่อกลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนได้มีโอกาสรู้จักว่า NFT คืออะไร รู้โอกาสในการเอาผลงานของตัวเองเข้าไปขายในโลกดิจิทัล มีคนซื้อจริง ๆ แล้วก็มีรายได้ด้วย สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า สื่อสามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้าถึงคน และทำให้คนเปลี่ยนชีวิต และทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง


พบกับรายการข่าว beartai BRIEF ทันเทรนด์อนาคต กับข่าวสดยามเช้า
ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ 7 โมงเช้า ที่เพจ beartai BRIEF

ติดตาม beartai BRIEF ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/beartaiBRIEF
Twitter : https://twitter.com/beartaiBRIEF
Blockdit : https://www.blockdit.com/beartaibrief

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส