ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ยินมาโดยตลอดคือถ้าอยากจับผิดโกหกใคร ก็ให้สังเกตอาการปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้าม แต่นักจิตวิทยาสมัยใหม่ก็ออกมาโต้แย้งว่าวิธีนี้ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่เพราะทุกคนมีภาษากายที่แตกต่างกัน ทำให้การสังเกตภาษากายนั้นวัดไม่ได้ว่าคนนั้นพูดจริงหรือโกหกกันแน่

โทมัส ออร์เมอรอด (Thomas Ormerod) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Sussex เขียนในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “ไม่มีสัญญาณที่สม่ำเสมอที่เกิดขึ้นพร้อมกับการหลอกลวง ผมหัวเราะคิกคัก หลายคนอาจจะดูจริงจังมากขึ้น บางคนสบตาตรง ๆ บางคนกลับหลบตา”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ‘ความประหม่า’ ที่เป็นเหมือนสัญญาณของความไม่ซื่อตรงนั้นไม่ใช่ตัวบ่งบอกที่ดีเท่าไหร่นัก โจ นาวาโร (Joe Navarro) อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ (FBI) บอกว่าการกอดอก มองไปทางอื่น เอามือจับปาก หรือสัญญาณทางร่างกายหลาย ๆ อย่างนั้นเป็นเรื่องที่ “ไร้สาระ” ทั้งสิ้น

ย้อนแย้งกับความเชื่อโดยทั่วไป สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนและใช้ได้ดีกว่าในการจับโกหกคนอื่นคือสิ่งที่พวกเขาพูดออกมา มากกว่าที่จะไปจ้องจับผิดภาษากายของพวกเขา ที่จริงมันมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเจาะลึก แต่ในบทความนี้เราจะมาเกริ่นเป็นเวอร์ชันสั้น ๆ เผื่อว่าจะได้เอาเทคนิคนี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ลองสังเกตห้าสัญญาณนี้ถ้าอยากรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังโกหกอยู่รึเปล่า

ก่อนที่จะจับคนโกหกได้ สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนว่าการโกหกเกิดจากอะไร ในหลาย ๆ งานวิจัยบอกว่าคนที่กำลังโกหกเรื่องที่สำคัญอยู่นั้นส่วนใหญ่จะคิดมาแล้วค่อนข้างเยอะ คนที่โกหกบ่อยครั้งที่จะเริ่มโกหกโดยการปูพื้นหลังของเรื่องก่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่พวกเขาอยากจะสื่อออกมา รู้ว่ากำลังจะโกหกเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นจะสร้างเรื่องราวรอบ ๆ เรื่องโกหกนั้นและรายละเอียดอะไรบ้างที่จะบอก (หรือไม่บอก) พูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนที่โกหกมักจะสร้างโครงสร้างของเนื้อเรื่องที่ชัดเจน และที่สำคัญมันใช้พลังงานสมองเยอะมาก ๆ ในการโกหกมากกว่าการบอกความจริง

ในบันทึกของระบบคุมประพฤติสําหรับรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Probation) กล่าวเอาไว้ว่า “คนโกหกที่ฝึกฝนและเตรียมพร้อมมาอย่างดีนั้นยากที่จะจับได้มากกว่าคนโกหกที่ไร้เดียงสาหรือไม่ได้เตรียมตัวไว้ ตัวชี้นำหลัก 2 ประการที่นำไปความจริงได้แก่ การปลดปล่อยอารมณ์และข้อผิดพลาดในการคิด”

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะจับคนโกหกก็คือมองหาการปลดปล่อยอารมณ์และข้อผิดพลาดในการคิดนั่นเอง

1. บอกให้เล่าเรื่องย้อนหลัง

เทคนิคแรกเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดให้กับคนที่กำลังจะโกหกคุณ เพราะพวกเขาเตรียมเนื้อเรื่องมาอย่างดีแล้วตั้งแต่จุด A ไป B ไป C เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าอีกฝั่งโกหกรึเปล่า ลองให้เล่าเรื่องเดียวกันแต่กลับกันจาก C ก่อนแล้วค่อยย้อนไป B แล้วค่อย A เพราะฉะนั้นเรามักเห็นในซีรีส์สืบสวนสอบสวนเวลาตำรวจมักจะถามประมาณว่า “คุณบอกว่าไปกินพิซซ่าตอนสามทุ่ม แล้วก่อนหน้านั้นทำอะไร?” ก็เป็นการใช้เทคนิคนี้เหมือนกัน

สมาคมจิตวิทยาของอเมริกา (American Psychological Association) ชี้ถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกันว่า “คนที่พูดความจริงสามารถใช้ความทรงจำของพวกเขาในการเล่าเรื่องราวย้อนหลังได้ โดยมักจะเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นไปอีก แต่คนโกหกมักจะเจอปัญหาเพราะพวกเขาต้องคิดรายละเอียดเพิ่ม ณ ตรงจุดนั้นเลย”

2. ถามคำถามแบบมั่ว ๆ

แนวคิดเดียวกันจากข้อแรก คนโกหกมักจะเตรียมเรื่องมาเป๊ะ ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าโกหกอยู่รึเปล่าลองถามคำถามที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเลยก็ได้ เพราะพวกเขาฝึกคำตอบหลาย ๆ อย่างมาก่อนแล้ว แต่พอเจอคำถามที่ไม่ได้เตรียมมาปุ๊บจะเป๋ทันที อย่างเช่น “คุณบอกว่ากินพิซซ่าเมื่อคืน ร้านไหนนะ แถวนั้นมีร้านสตาร์บัคส์ใกล้ ๆ รึเปล่า คุณกินไปกี่ชิ้น ได้กินไก่ทอดร้านนั้นไหม อร่อยมากเลยนะ” สิ่งเหล่านี้จะทำให้คำตอบที่พวกเขาเตรียมมาเริ่มปนกันไปหมดแล้วความจริงจะเริ่มเปิดเผยออกมาทีละนิดจากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้

3. สังเกตการจังหวะการตอบ

เมื่อถามคำถาม ลองสังเกตว่าอีกฝั่งได้ หยุด…แล้วค่อยตอบ หรือว่ารีบตอบเลยทันที ถ้าหยุดก่อนจะตอบก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี มันเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าอีกฝั่งก็พูดตามจังหวะปกติ แต่ถ้าอีกฝั่งรีบตอบเลยทันที มันเป็นสัญญาณเหมือนกับว่าพวกเขากำลังรีบท่องบทที่เตรียมมานั่นเอง

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโกได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องจังหวะการหยุดพูดเมื่อคนโกหกเอาไว้ว่า “จากข้อมูลของเราบ่งบอกว่าการใช้จังหวะหยุดนั้น บ่งบอกถึงคนที่พูดความจริงมากกว่าคนโกหก”

4. รูปแบบการพูดที่เปลี่ยนไป

ทริคนี้เหมาะมากสำหรับการฟังคนที่คุณคุ้นเคยเป็นอย่างดี เราฟังออกทันทีถ้ารูปแบบการพูดของอีกฝั่งหนึ่งเปลี่ยนไป งานวิจัยบ่งบอกว่าคนที่กำลังโกหกมักจะเปลี่ยนรูปแบบการพูดของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่เรามักเห็นในภาพยนตร์เวลาตำรวจเริ่มสืบสวนจะถามชื่อและที่อยู่ก่อน เพื่อให้เห็นว่ารูปแบบการพูดแบบปกติของพวกเขาเป็นยังไง ต่อจากนั้นจึงเริ่มสอบสวน

คนที่บอกความจริงมักจะพูดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร นอกจากนี้ คนโกหกมักจะใช้คำย่อน้อยลงเมื่อพวกเขาพูดและหลีกเลี่ยงการอ้างถึงตัวเอง (เช่น ไม่ใช้คำว่า “ฉัน” หรือ “เรา”) เพื่อทำตัวเองห่างไกลจากการโกหก

เว็บไซต์ PsychCentral รายงานว่า “คนที่โกหกมักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ฉัน” ระหว่างการพูดโกหก บางครั้งพวกเขาจะพูดถึงตัวเองในรูปของบุคคลที่สามโดยพูดว่า “ผู้หญิงคนนี้” นี่คือวิธีพยายามทำให้จิตใต้สำนึกของพวกเขาห่างเหินจากการโกหก”

5. ย้ำคำถามอีกครั้งก่อนที่จะตอบ

ถ้าอีกฝั่งย้ำคำถามที่คุณถามทั้งหมดแล้วค่อยตอบ อันนี้เป็นสัญญาณที่พอจะบอกได้เลยว่ากำลังโกหกอยู่ บางทีเราเห็นการย้ำบางส่วนของคำถามอันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าย้ำทั้งประโยค ตลอดเวลาถือว่าเริ่มผิดปกติแล้ว คนที่โกหกมักจะย้ำคำถามทั้งหมดเพื่อจะยื้อเวลาให้ตัวเองสามารถหาคำตอบที่ดีมาตอบได้นั่นเอง

ความเชื่อที่ว่าภาษาร่างกายสามารถบอกได้ว่าใครบางคนกำลังโกหกคุณอยู่อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทุกคนตอบสนองแตกต่างกัน มีภาษาร่างกายที่แตกต่างกันในบทสนทนา ถ้าเราไม่รู้จักอีกฝ่ายหนึ่งดีพออาจจะทำให้ตัดสินใจพลาดได้เพราะไม่รู้ว่าโดยปกติแล้วพวกเขาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีกว่าคือการฟังสิ่งที่พวกเขาพูดและพูดยังไง มองหาจุดที่ไม่ตรงกัน อะไรที่ดูแปลกเกินไป โดยไม่ต้องขัดจังหวะ เพียงแค่สังเกตถึงสิ่งผิดปกติ ค่อย ๆ ถาม ค่อย ๆ ตะล่อม ถ้าอีกฝั่งโกหก ลองให้พวกเขาเล่าและใช้เทคนิคทั้งห้าข้อด้านบนน่าจะพอช่วยทำให้ตัดสินได้ง่ายขึ้น

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส