วันที่ 28 มกราคม 2565 ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงความคืบหน้าแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รวบรวมความคิดเห็นจาก สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, ก.ล.ต. , ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุน โดยสรุปและแบ่งเป็น 3 แนวทางที่กรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรียกว่า “ทำให้ชัด-ผ่อนปรน-มองอนาคต”

ทำให้ชัด

คือการระบุประเภทเงินให้มีความชัดเจนมากขึ้น, ชี้แจงวิธีการคำนวณต้นทุนให้ชัดเจน และการวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา โดยจะมีการออกคู่มือประชาชนที่มีรายละเอียดดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 31 มกราคมนี้

ผ่อนปรน

คือแนวทางในการดำเนินการภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ในขอบเขตที่กรมสรรพากรสามารถดำเนินการได้ 3 ข้อ คือ

  1. กรมสรรพากรเสนอให้ออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยจะครอบคลุมเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Exchange ที่อยู่ในการกำกับของ ก.ล.ต. เท่านั้น
  2. สำหรับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Exchange ที่อยู่ในการกำกับของ ก.ล.ต. ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
  3. กรมสรรพากรเสนอให้ออก พ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะครอบคลุมเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Exchange ที่อยู่ในการกำกับของ ก.ล.ต. เท่านั้น

มองอนาคต

กรมสรรพากรจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ Exchange เป็นผู้หักและนำส่งกรมสรรพากร, การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ กรมสรรพากรชี้แจงว่าต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทำงานร่วมกับชุมชนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้กรมสรรพากรได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นและนำผลของข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาการบริหารการจัดเก็บภาษีที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมกันที่จะทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และยังคงรักษาหลักการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”

ที่มา : กรมสรรพากร