องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้เปิดเผยแผนที่จะทำลาย ‘สถานีอวกาศนานาชาติ ISS’ (International Space Station) ภายในเดือนมกราคม ปี 2031 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ด้วยการทำลายและทิ้งให้จมลงสู่พื้นเบื้องล่าง ณ สุสานอวกาศที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา NASA ได้ประกาศขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของสถานีออกไปจนถึงสิ้นปี 2030 หรือหลังจากที่สถานีอวกาศนานาชาติเปิดปฏิบัติการครบ 32 ปี

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

หลังจากที่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้ปฏิบัติงานในฐานะห้องทดลองและสถานีอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าวิจัยบนอวกาศในระดับนานาชาติมาตั้งแต่ปี 1998 ล่าสุดทาง NASA ได้เปิดเผยแผนที่จะทำลายสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยใน ‘รายงานระยะเปลี่ยนผ่านของสถานีอวกาศนานาชาติ’ (ISS Transition Report) เปิดเผยว่า แม้ NASA จะยืนยันว่าโครงสร้างโดยรวมของสถานีอวกาศยังคงใช้งานได้อย่างปลอดภัย แต่ปัญหาจากการเทียบท่าและปลดยานของสถานีอวกาศจากนานาประเทศบ่อยครั้ง ทำให้โครงสร้างหลักของตัวสถานีได้รับผลกระทบทางเทคนิค เช่น การพบรอยแตก รอยรั่วในระหว่างเทียบท่า

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
ภาพรอยรั่วบนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่เกิดขึ้นจากการเทียบท่าและปลดยานจากนานาชาติที่เข้ามาจอดเทียบท่า ทำให้เกิดปัญหารอยรั่วมากขึ้นเรื่อย ๆ

NASA ได้เปิดเผยแผนระยะเปลี่ยนผ่านนี้ว่า มีแผนที่จะปลดระวางสถานีอวกาศนานาชาติที่มีน้ำหนักรวม 473 ตัน (930,000 ปอนด์) มีความกว้างใกล้เคียงกับสนามฟุตบอล และลอยโคจรรอบโลกด้วยความสูงเกือบ 400 กิโลเมตรลง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นปลดระวางในเดือนมกราคม ปี 2031 ด้วยการทำลายสถานีอวกาศและทิ้งลงในสุสานอวกาศ ที่เรียกว่า ‘พอยต์ นีโม’ (Point Nemo) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นสุสานที่ใช้สำหรับทิ้งยานอวกาศและดาวเทียมที่ไม่ใช้งานแล้ว

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

โดยในขั้นแรก จะมีการแยกโมดูลย่อย ๆ เช่นโมดูลที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ โมดูลเก่าที่ยังใช้งานได้ออกจากโครงสร้างหลักก่อน จากนั้นจะทำการควบคุมสถานีอวกาศให้ค่อย ๆ ลดระดับวงโคจรลง จากระดับวงโคจรปกติที่ประมาณ 278-460 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แต่เนื่องจากว่าสถานีอวกาศจะไม่สามารถเผาไหม้ได้เองในชั้นบรรยากาศ จึงต้องมีการส่งยานอวกาศขึ้นไป เพื่อนำชิ้นส่วนของสถานีอวกาศกลับลงมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกทีละชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ยานอวกาศโปรเกรส (Progress) ของประเทศรัสเซีย และยานอวกาศซิกนัส (Cygnus) ของบริษัทนอร์ธทรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาในการเคลื่อนย้าย

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

เมื่อเคลื่อนมาสู่บรรยากาศโลก ชิ้นส่วนสถานีอวกาศบางส่วนจะถูกเผาไหม้ไปในบรรยากาศบ้าง จนเมื่อเดินทางมาถึงพื้นโลก ยานอวกาศจะจุดระบิดครั้งสุดท้ายเพื่อลดระดับลง เพื่อนำพาชิ้นส่วนซากของสถานีอวกาศ ISS ไปทิ้งลงสู่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ณ จุดที่เรียกว่าพอยต์ นีโม (Point Nemo) ซึ่งเป็นสุสานที่ใช้ทิ้งขยะอวกาศ เนื่องจากว่าสถานที่นี้ตั้งอยู่ ณ จุดที่ห่างไกลจากผืนดินมากที่สุดในโลก และไม่มีคนอาศัยอยู่ ทำให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุจากการถูกซากยานอวกาศที่เผาไหม้ไม่หมดตกใส่ รวมทั้งเนื่องจากกระแสน้ำในบริเวณนี้ที่ไม่เหมาะต่อการอาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ทำให้ไม่ค่อยพบสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในบริเวณนี้ ซากสถานีอวกาศหรือดาวเทียมที่ตกลงสู่ห้วงมหาสมุทรจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลมากนัก

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
‘พอยต์ นีโม’ (จุดสีแดง) เป็นสุสานอวกาศที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นจุดที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากแผ่นดินมากที่สุดในโลก ทำให้หน่วยงานด้านอวกาศมักนิยมนำซากชิ้นส่วนยานอวกาศและดาวเทียมมาทิ้ง
โดยคำว่า Point Nemo ตั้งชื่อตามกะลาสีเรือดำน้ำในนิยายวิทยาศาสตร์ ‘ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์’ (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) ของ ‘จูลส์ เวิร์น’ (Jules Verne) (ภาพกราฟิกจาก The Sun)

ซึ่งการปลดระวางสถานีอวกาศ ISS นั้นสอดคล้องกับแผนของ NASA และนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ทาง NASA ได้ประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทเอกชน 3 บริษัทที่จะได้รับเงินสัมปทานงบประมาณ 415.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก NASA ได้แก่ บริษัทบลู ออริจิน (Blue Origin) ของ ‘เจฟฟ์ เบโซส’ (Jeff Bezos) บริษัทนาโนแรกส์ (Nanoracks) และบริษัทนอร์ธทรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) เพื่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านจากสถานีอวกาศนานาชาติ ไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และกระตุ้นการทำธุรกิจด้านอวกาศมากขึ้นในอนาคต เช่น การเดินทางท่องเที่ยวบนอวกาศ เป็นต้น

‘โรบิน เกเตนส์’ (Robyn Gatens) ผู้อำนวยการสถานีอวกาศนานาชาติประจำสำนักงานใหญ่ NASA กล่าวว่า “สถานีอวกาศนานาชาติได้ดำเนินปฏิบัติการเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ ถือเป็นแพลตฟอร์มทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้น้ำหนักที่ก้าวล้ำและทรงประสิทธิภาพที่สุด เพื่อใช้พัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์และสิ่งแวดล้อมให้กับมนุษยชาติ และวางรากฐานในการสำรวจอวกาศเชิงพาณิชย์ในวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth orbit)”

NASA สถานีอวกาศนานาชาติ ISS
ยานอวกาศเชิงพาณิชย์ของบริษัทแอกเซียมสเปซ (Axiom Space)
ที่จะเป็นหนึ่งในโมดูลที่เชื่อมกับสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2024

ด้าน ‘ฟิล แม็กอลิสเตอร์’ (Phil McAlister) ผู้อำนวยการด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ประจำสำนักงานใหญ่ NASA กล่าวว่า “ภาคเอกชนนั้นมีศักยภาพทางเทคนิคและทางการเงิน ในการที่จะพัฒนาและดำเนินโครงการด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ในวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth orbit) ซึ่ง NASA จะให้ความช่วยเหลือในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การปฏิบัติงานแก่ภาคเอกชน เพื่อให้สามารถพัฒนาจุดหมายปลายทางบนอวกาศที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และถึงจุดคุ้มทุน”


อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส