วันที่ 2 มีนาคม 2565 ได้มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุม 403 รัฐสภา โดยพิจาณาเรื่อง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด (PayPal Thailand) ที่กำหนดให้ผู้ใช้งานทั่วไปต้องจดทะเบียนนิติบุคคล จึงจะสามารถดำเนินการรับโอนเงินได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำลังจะมีผลในวันที่ 7 มีนาคมนี้

การประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ในวันนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตัวแทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตัวแทนบริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด และตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม

นายธีรภัทร เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการชี้แจงต่อที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ถึงปัญหาที่พบหลังการปรับเปลี่ยนนโยบายของเพย์พาล คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา, การจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา ซึ่งเยาวชนไม่สามารถดำเนินการได้, การบังคับทำป้ายหรือเว็บไซต์ของตัวเอง ทำให้สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ

ตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ธปท. รับทราบปัญหาและความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ประกอบการ โดย ธปท. ชี้แจงว่า ‘เพย์พาล’ ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบของประเทศสิงคโปร์นั้น เมื่อเข้ามาให้บริการในประเทศไทยย่อมอยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท. เพื่อคุ้มครองและดูแลผู้ใช้งานคนไทย ส่วนการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการเพย์พาล หรือที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer) นั้น เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันการฟอกเงินตามกฎหมายของ ป.ป.ง.

ธปท. และ ป.ป.ง. ยืนยันว่า ต้องการการพิสูจน์ตัวตนแค่ KYC เท่านั้น หากมีการทำธุรกิจจะใช้ระบบ KYM (Know Your Merchant) ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ส่วนประกาศของเพย์พาล (ประเทศไทย) ก่อนหน้านี้ ที่มีการแจ้งให้ผู้ใช้งานบัญชีเพย์พาลปรับเปลี่ยนรูปแบบบัญชีไปเป็นระบบนิติบุคคลเพื่อทำธุรกรรมรับโอนเงิน และต้องยืนยันตัวตนแบบ KYB (Know Your Business) นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการสื่อสารเชิงกฎหมายภาษาอังกฤษกับทาง ป.ป.ง.

ทั้งนี้ ธปท. ได้ร่วมหารือกับ ตัวแทนบริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเร่งหาข้อยุติถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอทางออกให้ผู้บริหาร ธปท. พิจารณาและลงนาม เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนต่อไป ก่อนที่ระบบบัญชีเพย์พาลจะระงับการให้บริการในวันที่ 7 มีนาคมนี้

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะออกหนังสือเวียนประกาศแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรที่ได้รับการกระจายอำนาจในการรับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีป้ายร้านค้า” และผู้ประกอบการสามารถนำประกาศดังกล่าวไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ได้ หากประสงค์จะจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาโดยสมัครใจในอนาคต

ที่มา : Theerapat Charoensuk