จากกรณีที่มี เด็กหญิงอายุ 14 ปี ทำ IF แบบ 1/23 ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี เจอภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างหนักและมีผลตรวจเลือดที่น่าเป็นห่วง ทำให้เกิดข้อสงสัยในสังคมว่า การทำ IF คืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่ บทความนี้รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลกรุงเทพ มาไขข้อสงสัยเรื่อง IF

การทำ IF คืออะไร?

Intermittent Fasting (IF) หรือการอดอาหารเป็นช่วง ๆ เป็นวิธีการลดน้ำหนักวิธีหนึ่ง โดยการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการกินอาหาร โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ (1) ช่วงที่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และ (2) ช่วงอดอาหาร (ยกเว้นน้ำเปล่าหรือของเหลวที่ไม่มีแคลอรี)

การกำหนดระยะเวลาในการอดอาหารขึ้นอยู่กับความสะดวกและวิถีของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่าง การกินอาหารแบบวันเว้นวัน หรือเลือกวันอดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ โดยเป็นวันที่ไม่ติดกัน หรือการกำหนดช่วงเวลาการกินอาหารภายใน 24 ชั่วโมง เช่น สูตร 6/18 หมายความว่ากินอาหารได้ 6 ชั่วโมง อีก 18 ชั่วโมง อดอาหาร ยกเว้นน้ำเปล่าหรือของเหลวที่ไม่มีแคลอรี

การอดอาหารเป็นช่วง ๆ ลดน้ำหนักได้อย่างไร?

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ในช่วงเวลาที่อดอาหารร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ลดลง ส่งผลให้การเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปเป็นไขมันลดลง ทำให้การกักเก็บไขมันใต้ผิวหนังและน้ำหนักลดลง และช่วงที่ระดับอินซูลิน (Insulin) ลดลง ร่างกายจะหลั่งโกรว์ทฮอร์โมน (Growth Hormone) และนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและเพิ่มการเผาผลาญพลังงานให้สูงขึ้น โดยไม่ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงเหมือนการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง

ไขข้อสงสัย! การทำ IF คืออะไร? ลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่? และอันตรายที่คุณควรรู้

การทำ IF ประโยชน์จริงหรือ?

ประโยชน์ของการทำ IF คือเมื่อน้ำหนักลดลง ปริมาณไขมันในร่างกายลดลง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยพบว่า การทำ IF ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ เช่น งานวิจัยของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 แสดงให้เห็นว่า การอดอาหารมีแนวโน้มทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น โดย IF จะกระตุ้นการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการซ่อมแซมระดับเซลล์ โดยปกติเซลล์ในร่างกายมีการสร้างใหม่และตายไปตลอดเวลา เมื่อเกิดการกลืนกินตัวเองของเซลล์จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงมาแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพไป

อันตรายจากการทำ IF

การทำ IF เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดลงได้ หากยังกินอาหารที่ให้พลังงานสูงมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย และการจำกัดเวลานานเกินไป อาจทำให้ร่างกายเกิดความหิวโหยและอยากอาหารมากขึ้น เมื่อถึงเวลากินอาหารอาจขาดการยับยั้งชั่งใจ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้กินอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์คือ ผลไขมันในเลือดที่สูงมากของเด็กหญิงรายดังกล่าว ที่ทำ IF แบบ 1/23 ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้ทำ IF แล้วสามารถลดน้ำหนักได้สำเร็จมากมาย ก็ไม่ได้หมายความว่า IF เป็นวิธีที่เหมาะสมกับทุกคน ด้วยสภาพร่างกายของแต่ละคนที่มีการตอบสนองไม่เหมือนกัน จึงเกิดผลลัพธ์ได้มากมายกับสุขภาพ ควรศึกษาข้อมูลและเช็กสภาพร่างกายของตนเองก่อน ระหว่าง และหลังการทำ IF

นอกจากนี้ ควรปรึกษาและอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เพื่อช่วยวางแผนโภชนาการสำหรับการทำ IF ให้ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลกรุงเทพ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส