พูดถึงเครื่องบินที่เร็วจนได้ฉายาว่า ‘เร็วเหนือเสียง’ คงจะเป็นเครื่องไหนไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ Concorde เครื่องบินที่เป็นตำนานในยุคปลาย 60 ที่นอกเหนือจากจะมีดีไซน์และความเร็วที่โดดเด่นแล้ว ประวัติของเครื่องบินลำนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

BT Originals รายการ ‘เดอะวิทย์ด้อม’ ภูมิใจเสนอเนื้อหาที่จะพาคุณเจาะลึกเรื่องราวของเครื่องบิน Concorde ในตำนาน และสำหรับผู้อ่านเราได้สรุปเนื้อหาสำคัญมาไว้ที่นี่แล้ว

จุดกำเนิดและดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจ

Concorde ไม่ใช่แค่เครื่องบินโดยสารทั่วไป แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและการเดินทางที่รวดเร็ว แม้จะโบยบินอยู่บนฟากฟ้าเพียง 34 ปี ตั้งแต่การขึ้นบินครั้งแรกเมื่อปี 1969 จนถึงการหยุดให้บริการในปี 2003 ทว่าตำนานของมันยังคงก้องกังวานและเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่

การถือกำเนิดและอัจฉริยภาพแห่งดีไซน์ Concorde เริ่มต้นขึ้นในปี 1962 จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยได้มอบหมายให้บริษัท Aerospatiale ของฝรั่งเศสรับผิดชอบการออกแบบลำตัวและระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ British Aircraft Corporation ของอังกฤษดูแลโครงสร้างปีก ระบบลงจอด และการทดสอบ หัวใจสำคัญคือเครื่องยนต์ไอพ่นรุ่น Olympus 593 ที่พัฒนาร่วมกันโดย Rolls-Royce จากอังกฤษ และ Snecma จากฝรั่งเศส ซึ่งขับเคลื่อนให้ Concorde ทำความเร็วได้สูงถึง 2,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วกว่าเสียงถึงสองเท่า (Mach 2)

ดีไซน์ของ Concorde มีความล้ำสมัยและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ด้วยรูปทรงที่เรียวยาวและเพรียวบางสไตล์ดีไซน์ Ogival Delta Wing จมูกที่แหลมคม ปีกที่กว้างสง่า และหน้าต่างขนาดเล็กที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงเสียดทานในขณะบินด้วยความเร็วสูง นอกจากนี้ยังมีระบบ ‘Afterburner’ ที่ช่วยเพิ่มแรงขับมหาศาลโดยการเผาไหม้อากาศที่ร้อนจัดให้ร้อนยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความเร็วที่ผันแปรตั้งแต่เริ่มบินจนเข้าสู่ภาวะเหนือเสียง

ความท้าทายทางวิศวกรรมที่สำคัญคือการจัดการกับ ‘กลศาสตร์ของไหล’ เนื่องจากเครื่องยนต์ไอพ่นไม่สามารถรับอากาศที่ไหลเข้าด้วยความเร็วเหนือเสียงได้โดยตรง เพราะจะก่อให้เกิด ‘คลื่นกระแทก’ (Shock Wave) ที่บั่นทอนประสิทธิภาพการอัดอากาศของเครื่องยนต์ ดังนั้น Olympus 593 จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้สามารถลดหน้าตัดรับอากาศในขณะบินด้วยความเร็วสูง เพื่อให้อากาศไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ได้อย่างสม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า ‘Laminar Flow’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานของเครื่องยนต์ไอพ่น

นอกจากนี้ การเลือกใช้วัสดุยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่ เนื่องจากอุณหภูมิจากการเสียดสีกับอากาศที่ความเร็วสูงอาจพุ่งทะลุ 120 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินขีดจำกัดของอะลูมิเนียมอัลลอย (Aluminium Alloy) ที่ใช้ในเครื่องบินทั่วไป การใช้วัสดุเป็นไทเทเนียม (Titanium) ที่ทนทานกว่าก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีเพราะน้ำหนักที่มากเกินไป ท้ายที่สุดจึงเลือกใช้วิธีเคลือบอะลูมิเนียมอัลลอยเพื่อป้องกันการกัดกร่อนและยืดอายุการใช้งาน

อีกหนึ่งความอัจฉริยะในการออกแบบ คือปีกแบบปีกเดลตา (Ogival Delta) ที่สามารถสร้างแรงยกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในความเร็วสูงและต่ำ ทำให้เครื่องบินสามารถร่อนลงจอดได้โดยไม่เกิดสภาวะร่วงหล่น (Stall) และส่วนปลายจมูกของเครื่องบินยังสามารถงุ้มลงได้ในขณะลงจอด เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยให้นักบินมองเห็นรันเวย์ได้อย่างชัดเจน

มรสุมที่ทำให้ Concorde ต้องปิดตัวลง 

Concorde ให้บริการในแบบพรีเมียม ควมหรูหราที่เรียกว่าไม่มีสายการบินไหนสามารถเทียบเท่าในเวลานั้น แต่ก็หนีไม่พ้นมรสุมแห่งยุคสมัยและจุดสิ้นสุด แม้จะเปี่ยมด้วยนวัตกรรม แต่ Concorde ก็เผชิญกับปัญหาเรื่องเวลาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

  • วิกฤตการณ์น้ำมัน : การเปิดตัวในช่วงที่มีวิกฤตการณ์น้ำมันในตะวันออกกลางทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานของ Concorde ซึ่งกินน้ำมันมากอยู่แล้ว กลายเป็นภาระที่สายการบินส่วนใหญ่รับไม่ไหว หลายรายจึงยกเลิกคำสั่งซื้อไปตั้งแต่ปี 1973 ก่อนที่เครื่องจะเริ่มให้บริการจริงเสียอีก สุดท้ายเหลือเพียง British Airways และ Air France ที่ใช้งานจริงเพียง 14 ลำจากที่ผลิตทั้งหมด 20 ลำ
  • ความหรูหราเกินเอื้อม : การเดินทางด้วย Concorde ถือเป็นประสบการณ์ที่เหนือระดับ ด้วยค่าตั๋วไป-กลับระหว่างลอนดอน/ปารีส-นิวยอร์ก ที่สูงถึงประมาณ 12,000 เหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่า 400,000 บาทในขณะนั้น) ทำให้เป็นบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
  • ข้อจำกัดด้านเสียงและเส้นทาง : เสียง ‘Sonic Boom’ ที่เกิดขึ้นจากการบินเหนือเสียง ทำให้ Concorde ถูกจำกัดเส้นทางบินเหนือพื้นทวีป ส่งผลต่อความยืดหยุ่นในการให้บริการ

แต่แม้ว่าจะเจอปัญหามากมายก็ยังคงสามารถบริหารธุรกิจให้อยู่รอดได้ แต่จุดจบของตำนาน Concorde ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากโศกนาฏกรรมในปี 2000 เมื่อเที่ยวบิน 4590 ประสบอุบัติเหตุยางระเบิดหลังชนเศษโลหะบนรันเวย์ที่สนามบินปารีส ชิ้นส่วนยางกระเด็นเข้าสู่เครื่องยนต์ ทำให้เกิดเพลิงไหม้และเครื่องบินตกใส่โรงแรมใกล้เคียง คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 100 คน แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่นานจากนั้นเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ก็เป็นปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ Concorde ต้องปิดให้บริการอย่างถาวรในปี 2003

แม้ Concorde จะปิดฉากลง แต่จิตวิญญาณแห่งการเดินทางความเร็วเหนือเสียงยังคงอยู่ และได้กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ๆ อีกครั้ง ภายใต้โจทย์สำคัญคือการลดเสียงรบกวน (Sonic Boom) เพื่อให้สามารถให้บริการข้ามทวีปได้อย่างไร้ข้อจำกัด บริษัทอย่าง Boom กำลังพัฒนาเครื่องบินชื่อ Overture และ NASA ก็กำลังศึกษาแนวทางเดียวกัน โดยคาดหวังว่าเราจะได้เห็นเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงกลับมาโบยบินบนฟากฟ้าอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการสานต่อตำนานที่ Concorde ได้บุกเบิกไว้

Play video