ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คริปโทเคอร์เรนซีเป็นอีกหนึ่งตลาดที่นักลงทุนและนักเก็งกำไรต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งการลงทุนก็ทำได้แสนง่าย เพียงซื้อเหรียญผ่าน exchange ที่เราสามารถเข้าถึงได้สะดวก อีกทั้งมีเหรียญให้เลือกลงทุนมากกว่าหมื่นเหรียญ แต่คำถามที่ตามมา คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรลงทุนในเหรียญไหน ในเมื่อเหรียญมีจำนวนเยอะจนเลือกไม่ถูก ในบทความนี้เราจะมานำเสนอแนวทางในการดูเหรียญเบื้องต้นผ่านแนวคิดของการออกแบบเหรียญที่เรียกว่า “Tokenomics”

Tokenomics คืออะไร?

Tokenomics เป็นคำที่เกิดขึ้นมาจากการควบรวมของ 2 คำ ระหว่าง “Token” และ “Economics” เพื่อให้เข้าใจถึงหลักของอุปสงค์และอุปทานของเหรียญคริปโตนั้น พูดอีกนัยหนึ่ง Tokenomics จะช่วยในวัดปริมาณของเหรียญในระบบว่าเป็นอย่างไร, กระบวนการสร้างเหรียญสร้างแบบไหน, อรรถประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง, กระบวนการจัดการความเฟ้อของเหรียญทำด้วยวิธีไหน เพื่อใช้ในการประเมินคุณค่า และมูลค่าของเหรียญที่ส่วนใหญ่จะถูกสร้างให้ใช้ในแพลตฟอร์มบนโลก DeFi ซึ่งทำให้เราสามารถประเมินศักยภาพของแพลตฟอร์มไปได้พร้อมกันด้วย

Tokenomics ใช้ดูอะไรได้บ้าง?

เราต่างต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน แต่การจะได้มาซึ่งผลตอบแทนที่คู่ควรจะเป็นไปได้ยากมาก หากเราไม่รู้ว่าเรากำลังลงทุนอยู่กับอะไร ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีก็เช่นกัน แม้ว่าจะมีเหรียญให้ลงทุนอยู่มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหรียญเหล่านั้นมีคุณค่าเหมือนกันทุกเหรียญ โดยปัจจัยสำคัญที่เราสามารถรู้ได้ผ่าน Tokenomics มีดังต่อไปนี้

  • รูปแบบของเหรียญ (Token Model) – โดยจะมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ Inflationary Token ที่เป็นรูปแบบของเหรียญที่ไม่มีการจำกัดด้านอุปทาน เช่น ETH ที่ไม่มี Max Supply สามารถผลิตได้เรื่อย ๆ และ Deflationary Token ที่มีการสร้างด้วยอุปทานที่ตายตัวมาตั้งแต่ต้น เช่น BTC ที่ถูกกำหนดว่าจะสูงสุดหลังจากการขุดเสร็จสิ้นแล้วอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญ BTC เท่านั้น โดยข้อดีของ Inflationary Token คือ จำนวนโทเคนในระบบจะไม่ขาดแคลน สามารถนำไปใช้ต่อได้ในหลายกระบวนการ อย่าง ETH ที่เปิดให้สร้างเหรียญได้เรื่อย ๆ เพื่อใช้เป็นผลตอบแทนจูงใจให้คนมาช่วยบำรุงรักษาระบบ แต่ข้อเสียก็ คือ หากจำนวนผู้ใช้ไม่สามารถเติบได้ทันต่อปริมาณของเหรียญที่ถูกสร้าง ราคาของเหรียญก็จะตกลงอย่างรุนแรง เป็นต้น ส่วน Deflationary Token ข้อดีอย่างชัดเจน คือ การควบคุมปริมาณของเหรียญในระบบไม่ให้เฟ้อมากเกินไป อย่าง BTC ที่ลดอุปทานของเหรียญด้วยการ halving ทุก 4 ปี แต่ในทางกลับกันผลตอบแทนของผู้คนทั่วไปที่จะมาช่วยตรวจสอบระบบ ก็จะลดลงด้วย
  • กลไกการควบคุมราคา (Price Mechanism) – เป็นอีกปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาดูปริมาณของอุปทาน ควบคู่ไปกับอุปสงค์ของเหรียญในระบบ ว่าการเพิ่มขึ้นของเหรียญในระบบ มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดกับปริมาณของอุปสงค์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลโดยตรงต่อราคาของเหรียญในตลาด เช่น หากปริมาณของเหรียญมีมากเกินกว่าความต้องการใช้ ราคาของเหรียญก็จะลง แต่ตรงกันข้าม ถ้าปริมาณของเหรียญน้อยกว่าความต้องใช้งาน ราคาของเหรียญก็จะขึ้น เป็นต้น ซึ่งแต่ละเหรียญจะมีกลไกในการควบคุมราคาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการสร้างเหรียญในตอนแรก ยกตัวอย่างเช่น LUNA ที่ทำงานควบคู่กับ UST ที่จะทำการผลิต UST เพิ่ม หากมูลค่าของเหรียญ UST มากกว่า $1 และทำการลด LUNA ในระบบทิ้ง ในมูลค่าที่เท่ากัน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ ราคาของ LUNA สูงขึ้น เป็นต้น
  • การแจกจ่าย (Distribution) – ปัจจัยที่ใช้ในการดูเหรียญที่สร้างขึ้นถูกแจกจ่ายไปที่ถึงผู้ใช้อย่างทั่วถึงไหม ซึ่งกระบวนการนี้ถูกเรียกว่า “Fair launch” ยกตัวอย่างจาก ETH ที่มีการ pre-mined เหรียญออกมาจำนวนหนึ่ง แต่จำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปถึง 83% ของจำนวนทั้งหมด และเหลือ 17% เพื่อแบ่งสรรปันส่วนให้กับนักลงทุนกลุ่ม early และกลุ่มผู้สร้าง ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณาในส่วนของความเสี่ยงเรื่องการเทขายเหรียญ หรือการควบคุมระบบเครือข่ายที่ไร้ซึ่งความกระจายศูนย์ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ระบบส่วนใหญ่ แต่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มวาฬที่ถือเหรียญจำนวนมากแทน
  • อรรถประโยชน์ (Utillity) – การสร้างเหรียญทุกอย่างนั้นมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน ฉะนั้นการทำความเข้าใจว่าเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น สามารถนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง, การใช้งานดังกล่าวมีความแตกต่างไหมกับเหรียญอื่นในตลาด โดยเฉพาะเหรียญที่มีมูลค่าใหญ่กว่า, ทำไมคนต้องหันมาใช้เหรียญนี้, กิจกรรมที่ทำให้เกิดการใช้เหรียญ มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นซ้ำจนเป็นกิจวัตรได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยด้านอรรถประโยชน์นี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวบอกราคาของเหรียญในระยะยาวได้เลยว่ามีโอกาสจะมูน หรือมูล
  • อัตตราการเติบโตของผู้ใช้ (User Growth) – อัตราการเติบโตของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะมาพร้อมกับราคาของเหรียญที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแปรผันไปในทิศทางเดียวกัน หากการออกแบบเหรียญสามารถสร้างเครือข่ายให้เติบโตด้านฐานของผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างมูลค่าให้สูงขึ้นต่อในระยะยาวได้ไม่ยาก

Tokenomics เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่ใช้ในการประเมินเหรียญในโลกคริปโตได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงการออกแบบในมุมเศรษฐศาสตร์ของเหรียญได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งเป็นผลให้สามารถประเมินศักยภาพของระบบนิเวศน์ของระบบภายใต้เหรียญนั้นได้ไม่ยาก ดังนั้นองค์ความรู้นี้จึงควรบรรจุเป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับแรก ๆ ก่อนจะเข้าสู่การลงทุนในตลาดคริปโตอย่างเต็มตัว นอกเหนือจากการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดในการประเมินสินทรัพย์ดิจิทัล

ติดตามข้อมูลข่าสารเพิ่มเติมได้ที่ : Forward Labs

Start Up ด้านเทคโนโลยี โดยการนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้เพื่อมุ่งหวังให้มีการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ก่อตั้งโดย ชานนท์ จรัสสุทธิกุล และ ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส