เจฟฟ์​ เบโซส (Jeff Bezos) ก่อตั้งและทำงานในฐานะซีอีโอของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 1994 ผ่านมา 27 ปีพอดิบพอดี หลังจากทำให้บริษัทขายหนังสือออนไลน์ขนาดเล็กกลายเป็นบริษัทขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกที่แข็งแกร่ง เขาก็สละตำแหน่งซีอีโอ แล้วแต่งตั้ง แอนดี แจสซี (Andy Jassy) ให้เข้ามารับตำแหน่งต่อจากเขา โดยเบโซส์จะย้ายไปอยู่ในตำแหน่งประธานบริหารเพื่อโฟกัสความสนใจของเขาไปยังงานอื่น ๆ ที่เขาสนใจ เช่น Blue Origin, Washington Post และองค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่เขาดูแลอยู่แทน

รายงานข่าวนี้ถูกเปิดเผยในวันประชุมผู้ถือหุ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีเป็นประจำ ข่าวลือเรื่องที่เบโซสจะสละตำแหน่งนั้นมีมาก่อนหน้านี้ได้สักพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เขาเริ่มออกมาพูดถึงโปรเจกต์อื่น ๆ บ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะความใฝ่ฝันในวัยเด็กของตัวเขาที่จะเดินทางสู่อวกาศ (ซึ่งตอนนี้ก็มีโอกาสเป็นจริงมากขึ้นทุกที ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการ เที่ยวบินวันที่ 20 กรกฎาคม เขาพร้อมกับมาร์ก เบโซส (Mark Bazos) น้องชายของเขา จะเดินทางสู่อวกาศด้วยจรวดนิวเชปเพิร์ด (New Shepard) และแคปซูลอวกาศ 6 ที่นั่งเป็นครั้งแรก)

เบโซสถือเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคนชื่นชมและยกย่องเป็นแบบอย่างจำนวนมหาศาล ภาพที่เขาใช้ประตูไม้บานเก่ามาเป็นโต๊ะทำงานในวันแรก ๆ ของแอมะซอนยังถูกใช้เพื่อเป็นบทเรียนในการทำสตาร์ตอัปจนทุกวันนี้ เขาถือว่ามาไกลมาจากจุดเริ่มต้นที่เป็นร้านหนังสือออนไลน์ คิดดูว่าเมื่อปี 2019 แอมะซอนได้มีการส่งสินค้าไปทั้งหมดประมาณ​ 3,500 ล้านชิ้น เอาง่ายๆ เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก และนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนที่ Covid-19 จะทำให้ความต้องการของอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ปรัชญาการทำงานที่เขาใช้กับตัวเองและพนักงานของบริษัทคือทำทุกวันให้เหมือน “Day 1” เหมือนสตาร์ตอัปที่ทุ่มเททุกอย่างให้กับนวัตกรรมใหม่และแนวคิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ (Kindle, Echo, Amazon Prime, Prime Air, Snowmobile, AWS, Ring, Prime Video ฯลฯ) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าของแอมะซอนสูงกว่าในวันแรก ๆ ที่เปิดตัวประมาณเกือบ 3,000 เท่า

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของแอมะซอนที่มีซีอีโอเพียงคนเดียวนับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งบริษัท ภายใต้การกุมบังเหียนของเบโซส์ พวกเขาได้ผ่านทั้งวิกฤติฟองสบู่ดอตคอมในช่วงปลายยุค 90s และอีกครั้งในวิกฤติซับไพร์มช่วงปลายยุค 00s จนกลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิ พวกเขาเป็นเจ้าใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซในอเมริกา บางส่วนของยุโรป และเป็นเบื้องหลังบริการแพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติงให้บริการเจ้าใหญ่ ๆ บนโลกออนไลน์อย่าง Netflix และ Spotify ผ่าน Amazon Web Services (AWS) อีกด้วย

แอนดี แจสซี ผู้เข้ารับตำแหน่งซีอีโอต่อจากเบโซสนั้น ถือเป็นลูกหม้อของบริษัทก็คงไม่ผิดนัก สำนักข่าว The New York Times เรียกเขาว่าเป็น “Brain Double” ของเบโซส ตลอด 20 กว่าปีที่เขาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับอดีตซีอีโอตั้งแต่จบจาก Harvard Business School ในปี 1997 เรียนรู้กระบวนท่าและแนวคิดการตัดสินใจของเบโซสมาโดยตลอด เป็นผู้นำทีม AWS ตั้งแต่ปี 2003 จนมาถึงช่วงปี 2016 ก็เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของแผนก AWS เต็มตัว จากการสำรวจของบริษัทวิจัย Synergy Reseach บอกว่าตอนนี้ AWS นั้นครองส่วนแบ่งประมาณ 1/3 ของบริการคลาวด์คอมพิวติงทั้งหมด หรือเทียบเท่ากับสัดส่วนของคู่แข่งคนสำคัญสองแห่งอย่าง Microsoft และ Google รวมกัน (ซึ่งที่จริงแล้ว Microsoft ก็น่าจับตามองเพราะเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปี แต่นั่นเป็นอีกประเด็น) เขาเป็นคนหนึ่งที่เข้ารับตำแหน่งอย่างไม่มีข้อกังขา เมื่อข่าวออกมาว่าเบโซส์จะลงจากตำแหน่ง และ แจสซีจะรับไม้ต่อ ทั้งที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และถ้าเป็นคนที่ผู้ถือหุ้นไม่ไว้ใจคงเห็นการเทขายในตลาดพอสมควร แต่หุ้นของแอมะซอนแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

เบโซสกำลังยื่นไม้ต่อให้กับแจสซีเพื่อดูแลบริษัทขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยโอกาสที่มากมาย ทั้งอีคอมเมิร์ซและคลาวด์คอมพิวติงที่กำลังเติบโตอย่างสวยงาม รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ อย่าง Echo, Ring หรือ Eero ที่เป็น Consumer Tech และ Amazon Go, Amazon Fresh ที่อยู่ในหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดมีการซื้อบริษัทมีเดียอย่าง MGM ด้วยเงินกว่า 8,450 ล้านเหรียญเพื่อสร้างความแข็งแกร่งกับ Prime Video ยังไม่นับส่วนเล็กส่วนน้อยอย่างวิดีโอเกม สุขภาพ และแฟชันอีกด้วย

อีกแง่มุมหนึ่งของ Amazon

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับแจสซี ภายใต้การนำของเบโซสเราเห็นข่าวมากมายที่ออกมาในเชิงลบและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรื่องสหภาพแรงงานและการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมาก พนักงานระดับล่างที่อยู่ในโกดังหรือพนักงานขนส่งออกมาแสดงความเห็นว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งเอาไว้นั้นทำให้เครียดและเป็นผลเสียต่อสภาพร่างกายของพวกเขา รายงานจาก NBC News บอกว่าอัตราการลาออกของพนักงานระดับล่างนั้นสูงกว่า 150% บทความจากเว็บไซต์ The Verge เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาระบุว่าพนักงานในโกดังไม่มีเวลาแม้แต่จะไปฉี่ในห้องน้ำ เจมส์ บลัดเวิร์ท (James Bloodworth) นักข่าวผู้เขียนหนังสือ ‘Hired: Six Months Undercover in Low-Wage Britain’ แอบเข้าไปทำงานในตำแหน่งงานรายได้ขั้นต่ำเพื่อหาข้อมูลเขียนหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัทแอมะซอนเล่าถึงประสบการณ์ที่บางคนต้องยอมฉี่ใส่ขวดน้ำเพราะไม่อยากถูกปลดออกจากงาน ถ้าไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่บริษัทกำหนดได้

แบบสำรวจจากแพลตฟอร์มสิทธิแรงงาน Organise บอกว่า 74% ของพนักงานในโกดังหลีกเลี่ยงที่จะไปห้องน้ำเพราะกลัวที่จะถูกตักเตือนและไม่สามารถทำตามเป้าที่บริษัทตั้งเอาไว้ได้ ตัวเลขเป้าหมายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้เกิดความเครียดแบบสะสม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพนักงาน กว่า 55% รายงานว่าตัวเองรู้สึกซึมเศร้าหลังจากเริ่มทำงานที่แอมะซอน และกว่า 80% บอกว่าจะไม่มีทางสมัครทำงานที่นี่อีกเป็นอันขาด พนักงานคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามเขียนไว้ในแบบทดสอบว่า “จากมุมมองของพวกเขา เราไม่มีสิทธิ์ที่แม้แต่จะป่วย”

แอมะซอนตอบโต้กลับมาว่า “เราไม่ได้รับการคอนเฟิร์มว่าคนที่ตอบแบบสอบถามนั้นทำงานให้กับแอมะซอน และ เราไม่เห็นว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ตรงกับสิ่งเกิดขึ้นจริงในบริษัทของเรา”

นอกจากปัญหาหลังบ้านแล้ว แจสซียังต้องแก้ไขปัญหาหน้าบ้านของแอมะซอนด้วยเช่นกัน ถ้ายังจำกันได้ เบโซสเป็น 1 ใน 4 ซีอีโอที่ถูกสืบสวนกรณีการผูกขาดทางการค้า หรือ Antitrust ต่อหน้าสภาสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงตามข้อกล่าวหาทำธุรกิจโดยอาศัยการผูกขาดการค้าและกีดกันการแข่งขัน หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือรายงานจาก Wall Street Journals บอกว่าพวกเขาใช้ข้อมูลการขายบนเว็บไซต์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งและขายตัดราคาร้านค้าที่อยู่บนอีคอมเมิร์ซของพวกเขาเอง แม้ว่าเบโซส์ออกมาแก้ข่าวว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ห้ามนำข้อมูลในระบบของคนขายที่ไม่ใช่ของตัวเองไปใช้ประโยชน์และจำกัดการแข่งขันในระบบ แต่เขาก็ยอมรับด้วยว่า “ไม่สามารถรับประกันได้ว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่ถูกละเมิด” นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบเพราะหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Marketplace โตก็คือจำนวนพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของ แต่ถ้าเจ้าของตลาดมาขายตัดราคาแข่ง เหตุผลในการเปิดร้านขายของตรงนั้นก็คงไม่มีแล้ว

แน่นอนว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดของแจสซีน่าจะหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างรายได้และผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นให้มากกว่าหรือเท่ากับยุคของเบโซส์ ในการประชุม AWS เมื่อปลายปีก่อนแจสซีได้สะท้อนแนวคิดของเบโซสว่าความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทคือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวยอยู่ เขาเน้นความสำคัญของ ‘ความคลั่งไคล้ ทรหด และไม่ยอมอะไรง่าย ๆ’ เขาพูดทิ้งท้ายว่า

“เราต้องมีความกล้าที่จะดึงบริษัทขึ้นมาแล้วบังคับให้เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไปข้างหน้า”

เหมือนอย่างที่เบโซสพูดเสมอว่า “This is still Day 1” ยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะมาก เชื่อว่าแจสซีก็น่าคิดเช่นเดียวกัน


อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5

อ้างอิง 6 อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส