บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอดทนมาก ๆ กว่าจะตัดสินใจร่วมกันที่จะไม่เชิญนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ของรัฐบาลทหารเมียนมาร์เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 29 ตุลาคมนี้ผ่านทางวีดีโอทัศน์ ถือว่าเป็นการลงโทษแบบชิลชิล เพราะยังไม่มีการตัดขาดกันใด ๆ ทั้งสิ้นระหว่างผู้นำในอาเซียนด้วยกัน เพียงแต่ว่าในการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่ได้สังกัดทางการเมืองในเมียนมาร์จะได้รับเชิญเข้าร่วมเท่านั้น

การประชุมฉุกเฉินเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรวมทั้งรัฐมนตรีของเมียนมาร์นายวันนา หม่อง ลวิน ได้เข้าประชุมด้วย หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ ทางประธานอาเซียนคือรัฐมนตรีเอรีวัน ยูซอฟ ลงความคิดเห็นว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก ทั้งที่ฝ่ายผู้นำเมียนมาร์ได้ยอมรับฉันทามติห้าข้อของอาเซียนเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนเมษายน และยังให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเหมาะว่าจะปฎิบัติตาม จึงมีมติลงโทษเมียนมาร์แบบชิล ๆ ไม่เชิญผู้นำเมียนมาร์เข้าร่วม ทางฝ่ายนายวันนา หม่อง ลวิน ถึงกับอึ้ง และขอสงวนท่าที

8 เดือนหลังการยึดอำนาจ ฝ่ายผู้นำอาเซียนได้ลงความเห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาร์ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนเองหรือพยายามสร้างความปรองดองแห่งชาติให้เกิดขึ้นกับฝ่ายค้าน กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทำให้ความพยายามของอาเซียนที่จะเข้าไปช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้กับคนเมียนมาร์ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 ล่าช้า และไม่ได้เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งกระบวนทางการเมืองต่างๆ

ในช่วงนี้ฝ่ายไทยจำเป็นต้องรับภาระในการช่วยเหลือทั้งในนามของรัฐบาลไทยและอาเซียนไปก่อนในการส่งเวชภัณท์ อาหาร และของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นโดยผ่านสภากาชาดไทยที่มีความร่วมมือกับสภากาชาดเมียนมาร์มาช้านานแล้ว  

ต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐบาลไทยมีความกังวล เนื่องจากกลัวว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายภายในประเทศและการสู้รบโดยเฉพาะด้านตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจะขยายพื้นที่เพราะฝ่ายต่อต้านได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธจากกลุ่มชาติพันธุ์และต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติการบ่อนทำลายเสถียรภาพและกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาร์ 

การสู้รบในลักษณะนี้มักทำให้ชาวบ้านต้องหนีออกจากบริเวณการสู้รบ ทางองค์การสหประชาชาติ

คาดว่าตอนนี้มีประชาชนเมียนมาร์เกือบ 200,000 คนที่ต้องย้ายถิ่นฐานที่เคยอยู่ หนีความขัดแย้ง ถ้าจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้น ประชาชนกลุ่มนี้อาจจะมุ่งหน้าเข้ามาฝั่งไทย เป็นสิ่งท้าทายใหม่ ในระดับหนึ่งทางรัฐบาลไทยได้เตรียมรับมือไว้แล้ว มีการจัดเตรียมสถานที่พักชั่วคราวสิบกว่าแห่งตามบริเวญชายแดนไทยและเมียนมาร์ ในระยะยาวอาจจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์แบบบูรณาการมากกว่านี้

ขณะนี้องค์การสหประขาชาติยังยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลของนางอองซานซูจี ซึ่งขณะนี้ถูกกักตัวอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ารัฐบาลทหารเมียนมาร์ยังดื้อรั้นไม่ยอมทำตามฉันทามติอาเซียน ช่วงนี้นักการเมืองในยุโรปเริ่มบีบรัฐบาลของตนให้ยอมรับกลุ่มต่อต้านที่ได้จัดตั้งฝ่ายใต้การนำของพรรคเอ็นยูจี (National Unity Government) เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาร์ทำตามฉันทามติอาเซียน

เนื่องจากภารกิจประธานอาเซียนบรูไนจะจบสิ้นในวันที่ 29 ตุลาคม กัมพูชาจะเข้ามารับหน้าที่ประธานอาเซียนใหม่ (ประธานอาเซียนจะเริ่มปฎิบัติงานเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565) ฝ่ายไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับท่าทีอาเซียนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน นั้นจะมียุทธศาสตร์รับมือกับวิกฤตเมียนมาร์อย่างไรต่อไป มันมีผลทางตรงและทางอ้อมต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส