2 อาทิตย์ก่อนที่จะมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 76 ในมหานครนิวยอร์ก พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar – NUG) ที่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรรวมอยู่ด้วย ได้ออกมาประกาศให้ประชาชนเมียนมาในประเทศลุกฮือขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายทหารเมียนมาซึ่งครองอำนาจอยู่ในขณะนี้หลังการปฎิวัติเมื่อ 1 กุมภาพันธ์

การเรียกร้องครั้งนี้ของพรรคเอ็นยูจีสร้างความกระสับกระส่ายให้อาเซียนและประเทศคู่เจรจาทั้งหลายเป็นอย่างมาก เพราะในทางลึกบรรดาประเทศเกี่ยวข้องในวิกฤตเมียนมากำลังหาลู่ทางการนำฉันทามติห้าข้ออาเซียนมาปฎิบัติโดยเร็ว โดยพยายามที่จะสร้างบรรยากาศให้กลุ่มขัดแย้งในเมียนมาร์ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักการเมือง ฝ่ายค้าน กลุ่มชาติพันธ์ุ นักต่อสู้รณรงค์ จากภาคประชาสังคม ได้มีโอกาสให้ทุกฝ่ายได้จับเข่าคุยกัน เพื่อหาทางยุติการสู้รบ

ขณะนี้การสู้รบยังมีประปรายทั้งประเทศ ถือเป็นกรณีของการก่อความไม่สงบมากกว่าคือมีการวางระเบิดสถานที่ราชการหรือทำลายทรัพย์สินของรัฐ เช่น รางรถไฟหรือตัดสายไฟฟ้า สถานการณ์เช่นนี้ไม่เอื้ออำนวยให้อาเซียนสามารถส่งอาหาร ยารักษาโรค รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการป้องกันและรักษาต้านโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศให้กับองค์การกาชาดของเมียนมาได้

ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไทยได้ช่วยเหลือเมียนมาร์มาตลอด ตั้งแต่มีวิกฤติการเมืองมาเป็นเวลาแปดเดือน โดยให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม รวมทั้งยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการป้องกันและรักษาโรคระบาดโควิด-19 โดยผ่านสภากาชาดไทย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 24 ล้านบาท นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังบริจาคเงินช่วยเหลืออีก 5 ล้านบาทให้กับองค์กรกาชาดของเมียนมา

การที่ทูตเมียนมา จอ โม ตุน (Kyaw Moh Tun) ยังคงอยู่ในตำแหน่งทูตยูเอ็นเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ถูกปฎิวัติคือเอ็นเอลดี (National League for Democracy) แต่ถูกห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นนั้น ถือว่าเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ เพราะอย่างน้อย ๆ มันไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องรัฐบาลซ้อนกัน ความพยายามของพรรคเอ็นยูจีที่ชูพรรคตนเองเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นที่ชอบธรรมต้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ผู้แทนจากรัฐบาลต่าง ๆ รวมทั้งของไทยมีการติดต่อพูดคุยกับกลุ่มนี้

ก่อนที่อาเซียนจะมีการประชุมสุดยอดปลายเดือนตุลาคม ทูตพิเศษอาเซียนนายเอรีวัน ยูซุฟ คงได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเมียนมาเพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุด สาเหตุความล่าช้าที่ผ่านมาเป็นเพราะว่าทูตพิเศษไม่สามารถเข้าไปในเมียนมาได้ ฝ่ายทหารเมียนมาเล่นแง่ไม่ยอมให้ทูตพิเศษพบกับนางอองซานซูจี ซึ่งยังถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่

ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ แรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีการเมืองต่างประเทศแผ่วลงมาก เพราะมีเหตุการณ์ร้ายแรงกว่าที่เบนความสนใจของประชาคมโลก คือกลุ่มตาลีบันสามารถกลับเข้ามาครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้งเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเหตุการณ์ในเมียนมามีแนวโน้มเลวลงเพราะรัฐบาลทหารเมียนมากดดันกลุ่มต่อต้านมากขึ้นรวมทั้งประชาชนทั่วไป ‘แบไต๋’ ได้คุยกับนักข่าวสาวเมียนมาสองคนในกรุงย่างกุ้งช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ในเมืองหลวง พบว่าไม่มีความสงบ ไม่ปลอดภัย แถมยังมีโอกาสสูงมากที่จะถูกลูกหลง เกือบทุกวันได้ยินเสียงระเบิดที่โน่นที่นี่ บางครั้งมีเสียงระเบิดแถว ๆ บ้าน ทั้งสองคนกลัวจะถูกจับอยู่ตลอดเวลา พยายามไม่ออกจากบ้าน และต้องใช้นามแฝงเวลารายงานข่าว ขณะนี้มีนักข่าวเมียนมาประมาณ 45 คนที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทย

กัมพูชากำลังจะเข้ามาเป็นประธานอาเซียนต่อจากบรูไนอีกสามเดือนข้างหน้า จะมีแนวทางในการแก้ไขวิกฤตเมียนมาที่ต่างออกไปอย่างแน่นอน ต้องติดตามดูว่าอาเซียนจะมีแผนการที่จะนำฉันทามติมาปฏิบัติให้สัมฤทธ์ผลได้อย่างไร

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส