สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (US Federal Aviation Administration : FAA) เผยว่าต้องขยายเวลาในการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการออกใบอนุญาตปล่อยภารกิจการบินทดสอบยานอวกาศสตาร์ชิปไปยังอวกาศครั้งแรกของสเปซเอ็กซ์นานขึ้น ซึ่งจะจบขั้นสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคม เนื่องจากทางสเปซเอ็กซ์ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดหลายอย่างในการขออนุญาต ดังนั้น FAA จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติม

สเปซเอ็กซ์มีแผนจะทำการบินทดสอบต้นแบบยานสตาร์ชิปจากหมู่บ้านโบคาชิกาหรือที่เรียกว่าสตาร์เบส ไปสู่อวกาศแล้วกลับมาลงจอดในมหาสมุทรนอกฝั่งฮาวายโดยใช้จรวดซูเปอร์เฮฟวี Booster 4 เป็นบูสเตอร์ที่จะบินกลับมาลงจอดในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งได้ยื่นขออนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ปล่อยยานต่อ FAA ตั้งแต่ปีที่แล้ว

สตาร์ชิปเป็นยานแบบนำกลับมาใช้ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ อาจจะมีผลกระทบด้านสิ่งล้อมรอบพื้นที่ปล่อยยานและเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งได้เปิดประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม โดยกำหนดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จใน 21 ธันวาคม แล้วบินทดสอบในมกราคม แต่ต่อมาได้เลื่อนไปเป็น 28 กุมภาพันธ์ จากนั้นก็เลื่อนไปเป็น 28 มีนาคมและครั้งที่ผ่านมาเลื่อนไปเป็น 29 เมษายน

นาซามีโครงการอาร์เทมิสที่จะส่งมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบบนดวงจันทร์ที่ขั้วใต้ภายในปี 2024 ซึ่งภารกิจ Artemis III จะปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion นำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์และระบบลงจอดหรือยานสตาร์ชิป จะพานักบินอวกาศไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ สรุปง่าย ๆ ว่าสตาร์ชิปอยู่ในโครงการเป็นหน้าตาของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องใบอนุญาตคงผ่านแน่นอน แต่เรื่องความปลอดภัยก็สำคัญจึงต้องอดทนรอกันอีกสักหน่อย

ล่าสุด อีลอน มัสก์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ได้ทวีตโชว์เครื่องยนต์จรวด Raptor 2 ที่ได้ผลิตขึ้นใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งให้แรงขับ 230 TF (ตัน-แรง) และที่สำคัญใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า Raptor 1 ถึงครึ่งหนึ่ง สรุปง่าย ๆ ว่าโครงการไปดวงจันทร์และดาวอังคารของสเปซเอ็กซ์กำลังมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา : cnet และ faa

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส