31 ตุลาคม เวลา 15.37 น. ตามเวลาในปักกิ่ง (14.34 น. ในประเทศไทย) CASC บริษัทขนส่งอวกาศของรัฐบาลจีนได้ปล่อยโมดูลเหมิงเถียน (Mengtian) ซึ่งเป็นโมดูลห้องปฏิบัติการที่ 2 จัดว่าเป็นโมดูลหลักส่วนที่ 3 หรือส่วนสุดท้ายที่ปล่อยขึ้นไปประกอบกับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ให้มีโครงสร้างเป็นรูปตัว T โดยใช้บริการขนส่งด้วยจรวด Long March-5B จากท่าอวกาศเหวินฉาง (Wenchang) บนเกาะไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน และสามารถเดินทางเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้ได้สำเร็จ

ในอีกไม่กี่ชั่วโมงโมดูลเหมิงเถียนจะเข้าจอดเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกง ซึ่งมีโมดูลเทียนเหอ (Tianhe) ที่ทำหน้าที่เป็นโมดูลหลักและเป็นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศ และมีโมดูลเหวินเถียน (Wentian) ที่เป็นห้องโดยสารสำหรับห้องปฏิบัติการที่ 1 สุดท้ายโมดูลเหมิงเถียนจะถูกเชื่อมเข้ากับสถานีอวกาศเทียนกงให้มีรูปร่างเป็นรูปตัว T

โมดูลเหมิงเถียนมีขนาดและน้ำหนักไล่เลี่ยกับโมดูลเทียนเหอและโมดูลเหวินเถียน ซึ่งมีความยาว 17.9 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 4.2 เมตร และมีน้ำหนักก่อนบินขึ้นประมาณ 23 ตัน ภายในประกอบด้วยห้องทำงานสำหรับนักบินอวกาศ ห้องแอร์ล็อก ห้องบรรทุกโดยสาร และห้องจัดเก็บทรัพยากร

ทั้งนี้โมดูลเหมิงเถียนถูกออกแบบมาสำหรับเน้นการทดลองทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่มีน้ำหนักน้อยเป็นหลัก จึงไม่มีห้องพัก แต่จะเต็มไปด้วยตู้เก็บงานทดลอง และได้ติดตั้งห้องปฏิบัติการสหวิทยาการ สำหรับการทดลองฟิสิกส์ของไหล วัสดุและวิทยาศาสตร์การเผาไหม้ ฟิสิกส์พื้นฐาน และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ

ที่มา : news.cgtn.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส