วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 7:44 a.m. EST (19:44 น. ในประเทศไทย) แคปซูลอวกาศ Orion ในโครงการ Artemis I ของนาซาได้บินเคลื่อนผ่านพื้นผิวของดวงจันทร์ในระยะประมาณ 130 กิโลเมตร (80 ไมล์) โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์เป็นตัวช่วยให้แคปซูลบินเข้าใกล้ดวงจันทร์ หรือเรียกว่า “outbound powered flyby” ซึ่งแคปซูลต้องใช้เครื่องยนต์หลักและตัวขับดันเสริมหลายตัวช่วยกันขับดันอย่างสุดแรงเป็นเวลา 2 นาทีครึ่งเพื่อเร่งให้แคปซูลออกจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ ซึ่งช่วงนี้แคปซูลได้ขาดการติดต่อกับทีมวิศวกรประมาณ 34 นาที

ต่อมาเวลา 17:49 a.m. EST (19:49 น.) แคปซูลได้บินไปโผล่ออกมาจากด้านหลังดวงจันทร์และสามารถติดต่อได้อีกครั้ง จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังวงโคจรที่อยู่ห่างไกลรอบดวงจันทร์ หรือเรียกว่า Distant retrograde orbit (DRO) ที่มีความเสถียรสูง ซึ่งจะช่วยให้แคปซูลโคจรรอบดวงจันทร์โดยใช้พลังงานน้อยลงและใช้เวลาอยู่ในอวกาศเพื่อทำภารกิจที่กำหนดไว้ เช่น ระบบนำทาง การสื่อสาร พลังงาน การควบคุมความร้อนและอื่น ๆ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับเที่ยวบินที่มีมนุษย์อวกาศในครั้งต่อไป

แคปซูลอวกาศ Orion จะใช้เวลาอยู่ในวงโคจร DRO นาน 6 – 19 วัน เพื่อรวบรวมข้อมูลและอนุญาตให้ผู้ควบคุมภารกิจประเมินประสิทธิภาพของแคปซูล ซึ่งโดยรวมตอนนี้ภารกิจส่วนใหญ่ยังคงดำเนินไปตามแผน แม้จะมีปัญหาบ้างแต่ทีมวิศวกรกำลังพยายามทำการแก้ไขไม่ให้มีผลกระทบต่อภารกิจ

ที่มา : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส