แคปซูลอวกาศ Orion ของนาซา (NASA) ได้ใช้เวลาในอวกาศผ่านไปแล้ว 25 วัน กับภารกิจ Artemis I ในการบินไปโคจรรอบดวงจันทร์โดยไร้นักบินอวกาศควบคุม ซึ่งวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม แคปซูลอวกาศ Orion จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และลงจอดทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับเกาะกัวดาลูป ในเวลา 12:40 PM ET (ในประเทศไทย วันจันทร์ เวลา 01:40 น.) หลังจากนาซาได้ปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนแคปซูลอวกาศ Orion ออกจากแท่นปล่อยจรวด Launch Pad 39B ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดาไปสู่อวกาศเมื่อ 16 พฤศจิกายน

แคปซูลอวกาศ Orion ได้เดินทางสู่ดวงจันทร์ที่ไกลออกไปจากโลกถึง 270,000 ไมล์ (434,523 กิโลเมตร) และเมื่อกลับมาถึงโลกก็จะรวมระยะทางของเดินทางในภารกิจทั้งหมดมากกว่า 1,400,000 ไมล์ (2,253,080 กิโลเมตร) และในภารกิจนี้ไม่มีนักบินอวกาศโดยสารไปกับแคปซูลอวกาศ ซึ่งมีเพียงหุ่นจำลองนักบินอวกาศ 3 นาย คือ ผู้บัญชาการ มูนิกัน แคมโพส, เฮลก้า และโซฮาร์ พร้อมด้วยตุ๊กตา สนูปปี้ ในชุดนักบินอวกาศของนาซา, ชอน (แกะขนปุย) ในชุดนักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA)

แคปซูลอวกาศ Orion จะกลับเข้าสู่โลกด้วยความเร็วประมาณ 25,000 ไมล์ (40,233 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง ซึ่งอุณหภูมิภายนอกใกล้ถึง 3,000 องศาเซลเซียส โดยเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจะมีความเร็วช้าลงเหลือประมาณ 325 ไมล์ (523 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง และก่อนใกล้ถึงผิวน้ำจะใช้ร่มชูชีพ 11 ตัว ชะลอความเร็วให้ลดลงเหลือ 20 ไมล์ (32 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น สุดท้ายเมื่อตกสู่ผืนน้ำก็จะเข้าเก็บกู้แคปซูลและดึงผู้โดยสารขึ้นมาบนเรือ

ภารกิจ Artemis I เป็นการทดสอบระบบทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อม จากนั้นจะส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยแคปซูลอวกาศ Orion ในภารกิจ Artemis II ไม่เกินปี 2024 และภารกิจ Artemis III แคปซูลอวกาศ Orion จะนำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์และยานสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์จะพานักบินอวกาศลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2025

ที่มา : yahoo.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส