Voyager Space บริษัทพัฒนาสถานีอวกาศเอกชนจัดระดมทุนครั้งใหม่ได้ 80,200,000 เหรียญ (2,670 ล้านบาท) สำหรับนำไปใช้พัฒนาสถานีอวกาศสตาร์แล็บ (Starlab) ที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ใน 27 มกราคม แสดงว่าเงินทุนรอบนี้ได้มาจาก NewSpace Capital, Midway Venture Partners และ Industrious Ventures

ก่อนหน้านี้มีการกำหนดปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ไว้ในปี 2024 ซึ่งนาซาได้หมดเงินไปจำนวนมากกับการทำงานและบำรุงรักษา ISS อีกทั้งต้องการโฟกัสไปที่โครงการอาร์เทมิสในการกลับไปสู่ดวงจันทร์ ซึ่งจะมีการสร้างสถานี Gateway โคจรรอบดวงจันทร์ ส่วนสถานีอวกาศในวงโคจรระดับต่ำของโลกก็มีความสำคัญต่อการวิจัยต่าง ๆ จึงมีความคิดว่าควรให้บริษัทเอกชนเป็นคนพัฒนาแล้วค่อยมาขอเช่าใช้งาน ซึ่งจะประหยัดเงินมากกว่า

ปี 2017 จึงมีการออกกฎหมายให้นาซาเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าแทนการเป็นผู้ให้บริการปลายทางในวงโคจรระดับต่ำของโลก (ผู้ให้บริการสถานีอวกาศ) ต่อมารัฐบาลไบเดนได้ขยายการดำเนินงานที่ ISS จนถึงปี 2030

นาซาจากที่เคยจ้างบริษัทเอกชนช่วยขนส่งสัมภาระไปยัง ISS จนคุ้นเคยกัน จึงทาบทาบให้บริษัทเหล่านี้มาพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่เป็นของเอกชนโดยจะช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ส่วนหนึ่ง ส่วนบริษัทเอกชนก็จะได้สถานีอวกาศไว้เป็นเหมือนรีสอร์ทให้นักท่องเที่ยวอวกาศที่ร่ำรวยมานอนพักผ่อน

ปี 2021 นาซาได้เลือกเซ็นสัญญาจ้าง 3 บริษัทจาก 11 บริษัท คือ Blue Origin, Nanoracks และ Northrop Grumman ด้วยมูลค่า 415.6 ล้านเหรียญ (13,873 ล้านบาท) สำหรับพัฒนาสถานีอวกาศในเฟสที่ 1 ไปถึงปี 2025 ซึ่งแต่ละบริษัทจะแยกกันสร้างบริษัทละหนึ่งสถานี

Blue Origin ได้ร่วมมือกับ Sierra Space ที่ได้รับเงินทุน 130 ล้านเหรียญ (4,339 ล้านบาท) พัฒนาสถานีอวกาศ “Orbital Reef” ส่วน Northrop Grumman ได้ร่วมมือกับ Dynetics, Leidos และอีกบริษัทไม่เอ่ยนาม ได้รับเงินทุน 125.6 ล้านเหรียญ (4,192 ล้านบาท) พัฒนาสถานีอวกาศที่ยังไม่มีชื่อ สุดท้าย Nanoracks ร่วมมือ Voyager Space (บริษัทแม่ของตัวเอง) และ Lockheed Martin ได้รับเงินทุน 160 ล้านเหรียญ (5,341 ล้านบาท) พัฒนาสถานีอวกาศ “Starlab”

ที่มา : techcrunch และ floridatoday

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส