Déjà Vu เป็นคำจำกัดความที่ใช้เรียกความรู้สึกเหมือนกับคุณเคยเจอเหตุการณ์นั้นๆมาก่อนหน้านี้ มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆก็มีโอกาสเจอ โดยส่วนมากแล้วปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในช่วงชีวิต โดยทั่วไปเฉลี่ย 1 ครั้ง/ปี และจำนวนครั้งจะลดลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าเดจาวูจะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่การวิจัยในเรื่องนี้ค่อนข้างมีข้อจำกัดมาก สาเหตุของการเกิดเดจาวูในผู้ที่ไม่มีอาการทางจิตเภท หรือลมชักแล้วละก็ จะมีสาเหตุหลักๆอยู่ 4 อย่างคือ ความสนใจ, ความจำ, การประมวลผลแบบผสาน และ ระบบประสาท

1.ความสนใจ สาเหตุของอาการเดจาวูที่เกิดจากความสนใจนี้อธิบายไว้ว่า มันเกิดจากความสนใจแบบ ‘ตั้งใจ’ และ ‘ไม่ตั้งใจ’ ตัวอย่างเช่นเมื่อคุณกำลังจะไขกุญแจประตูแต่ทันใดนั้นคุณก็ถูกเสียงรบกวน เพียงแค่ชั่วขณะที่คุณใจลอยเมื่อคุณกลับมาสนใจกับการไขกุญแจอีกครั้งหนึ่ง ภาพของการไขกุญแจก่อนหน้านี้จะถูกทำให้เหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยสิ่งที่เข้ามารบกวนการรับรู้ของคุณอาจจะเป็นเสียงรอบข้าง หรือแม้กระทั่งการกะพริบตาเพียงครั้งเดียวก็ได้

2.ความจำ ในแต่ละวันเราได้รับข้อมูลมากมายแต่ไม่ใช่รายละเอียดทั้งหมดที่เราสามารถจำได้ บางสิ่งที่ได้รับรู้เข้ามาใหม่อาจมีรายละเอียดคล้ายๆ กับสิ่งที่เราเคยเห็นแต่เราไม่สามารถจำรายละเอียดในตอนนั้นได้ทั้งหมด หลักฐานของหลักการนี้คือการที่ผู้คนไม่ใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ ในข้อมูลทั้งหมด การประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมาใหม่ในภายหลังจึงทำให้เกิดความคุ้นเคยและเกิดเดจาวูได้เป็นครั้งคราว

3.การประมวลผลแบบประสาน ว่าง่ายๆคือระบบการประมวลผลของ ‘การรับรู้’ และ’ความจำ’ ทำงานไม่สัมพันธ์กันชั่วขณะนั่นเอง

4.ระบบประสาท สำหรับสาเหตุนี้เดจาวูจะเกิดจากการที่เกิดการชักเล็กน้อยในสมองส่วน Temporal lobe ในคนที่ไม่มีอาการลมชัก หรือเป็นอาการที่การส่งกระแสประสาทระหว่าง หู ตา หรืออวัยวะรับสัมผัสอื่นๆล่าช้า ทำให้ระบบประมวลผลในสมองส่วนกลางช้าไปด้วย

ทั้ง 4 สาเหตุนี้ การประมวลผลแบบผสาน เป็นสาเหตุที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะ มีทฤษฎีมากมายที่อธิบายการเกิด แต่สาเหตุนี้ไม่สามาถพิสูจน์ได้ในแลป เช่นเดียวกันกับการอธิบายทางระบบประสาท ที่มีคำอธิบายที่น่าสนใจและดูเป็นเหตุเป็นผล แต่เราก็ยังคงขาดเครื่องมือที่จะมาพิสูจน์ทฤษฎีเหล่านั้น ดังนั้นแนวคิดทั้งสองข้อนี้จึงไม่ค่อยมีความหมายต่อนักวิจัย แต่สาเหตุในเรื่องของความจำ และ การให้ความสนใจ ที่สามารถพิสูจน์ให้เห็น และทดลองได้จึงดูเป็นสาเหตุที่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัยมากกว่า

อ้างอิง