ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนอวัยวะยังคงมีอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งการรอบริจาคเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทันการในบางกรณี แต่ล่าสุดมีข่าวดีที่นักวิจัยสามารถเลี้ยงตับที่มาจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ และสามารถใช้กับหนูทดลองได้ด้วย

ตับมนุษย์จิ๋ว ที่ว่ามานี้ เพาะมาจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์มาเปลี่ยนเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นนำไปเลี้ยงในโครงเลี้ยงเซลล์เพื่อให้เซลล์มีการเจริญเติบโตไปเป็นตับ จากนั้น ตับมนุษย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจึงถูกปลูกถ่ายลงในหนูทดลองทั้งหมด 5 ตัว ผลการทดลองพบว่า หนูยังมีชีวิตและตับยังคงทำงานอยู่หลังจากการผ่าตัดปลูกถ่ายตับมนุษย์เข้าไปในหนูทดลองเป็นระยะเวลา 4 วัน แต่ก็มีผลแทรกซ้อนทางการแพทย์อย่างเช่นปัญหาการไหลเวียนโลหิต เป็นต้น

Alejandro Soto-Gutiérrez, นักวิจัยด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก กล่าวว่า ‘แม้มันจะยังไม่สมบูรณ์ แต่นับเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ คุณสามารถสร้างอวัยวะหนึ่งขึ้นมาได้ เพียงแค่ใช้เซลล์ของผิวหนังเท่านั้น ดูตัวอย่างนี้ เซลล์ที่เพาะขึ้นมาทำงานได้เหมือนตับ มันยอดเยี่ยมมากเลยทีเดียว’

การพัฒนาอวัยวะจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์นับเป็นก้าวเริ่มต้นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากในวงการแพทย์เพราะนักวิจัยสามารถเพาะอวัยวะขึ้นมาได้ และสามารถใช้มันกับผู้ป่วยที่จำเป็นหรือต้องการแบบทันด่วนด้วย

อ้างอิง Futurism

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส