และแล้วก็ถึงคราวส่องดาวเคราะห์ใหญ่เบิ้มกันบ้าง เมื่อดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้โกลที่สุด ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) เปิดเผยว่าวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลางเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร

ความพิเศษของดาวพฤหัสบดีใกล้โลก

นายศุภฤกษ์อธิบายว่า หากฟ้าใสไร้เมฆ หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว เราจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนตลอดคืนถึงรุ่งเช้า ด้วยค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) นอกจากนี้ คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์สว่างปรากฏอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีอีกด้วย

และหากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กส่องดู จะสามารถสังเกตแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนีมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) ได้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้ในช่วงเวลาประมาณ 22.00-01.00 น. อีกด้วย

ไม่มีกล้อง แต่อยากเห็นชัด ๆ ทำไงดี

สำหรับใครที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ แต่อยากเห็นมากกว่าความสุกสว่างบนฟากฟ้า NARIT ยังจัดกิจกรรมเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันดังกล่าวด้วย โดยจะเตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้บริการส่องดาวกัน ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่

1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา  โทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264 
4) สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411

ใครสนใจ อยู่ใกล้ที่ไหนไปร่วมที่นั่นได้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย  แถมยังมีระบบให้ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าลุ้นรับของรางวัลเด็ด ๆ อย่าง ‘หนังสือคู่มือปรากฏการณ์ดาราศาสตร์’ สุดพรีเมียม กันด้วยนะ และเพื่อความปลอดภัยไร้โควิด อย่าลืมเตรียมหน้ากากไปร่วมกิจกรรมกันด้วยล่ะ

อ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส