เมื่อเทียบกับชาติอื่น อเมริกาปล่อยกำหนดการเดินทางไปยังดาวอังคารออกมาก่อนใคร แต่กลับส่งขึ้นไปท้ายสุด และด้วยข่าวความคืบหน้าที่มีมาเป็นระยะก็ทำให้เราลุ้นได้มากที่สุดเช่นกัน ว่าแต่ทำไมจึงน่าลุ้นนั้น เรามาทำความรู้จักกับยานสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)” หรือ “Mars 2020 Rover” และ “Ingenuity” เฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคาร ที่จะเดินทางไปสู่ดาวอังคารในวันที่ 30 ก.ค. นี้กันสักหน่อย

7 เรื่องน่าว้าวของยาน Perseverance

1. Perseverance จิตวิญญาณแห่งการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเอาชนะและความท้าทาย

ยาน Perseverance มีภารกิจที่ยากลำบาก ไม่เพียงแต่ต้องลงจอดบนดาวเคราะห์ที่ทุรกันดาร มันยังต้องทำงานตามเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นก็คือ การค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตจุลินทรีย์โบราณ สำรวจลักษณะทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังต้องรวบรวมตัวอย่างหินอย่างระมัดระวัง เพื่อนำกลับมาสู่โลกด้วย

ภารกิจเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมนาซาจึงเลือกชื่อ ‘Perseverance’ อันมีความหมายว่า ‘ความมุ่งมั่นพยายาม’ จากบรรดาบทความตั้งชื่อที่ส่งประกวดในโครงการตั้งชื่อให้ยานสำรวจ (Name the Rover) กว่า 28,000 บทความ

และยิ่งมีการระบาดของโควิด ความลำบากในการทำงานให้ทันตามกำหนดการ ยิ่งต้องใช้ความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นเท่าทวี

“ในฐานะวิศวกร การสร้างรถสำรวจที่ซับซ้อนนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่เคยทำมา และไวรัสโคโรนาก็ทำให้มันท้าทายขึ้นไปอีก” เรย์ เบเคอร์ (Ray Baker) ผู้บริหารระบบการบินของภารกิจที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ในแคลิฟอร์เนีย กล่าว

ภาพจำลองยานสำรวจ Perseverance บนพื้นผิวดาวอังคาร
Credits: NASA/JPL-Caltech

2. ยานแห่งความพากเพียร บ่งบอกถึงความพยายามต่อยอดจากความสำเร็จของยานสำรวจอื่น

“โซเจอเนอร์” (Sojourner) ที่มีความหมายว่า ผู้พักแรม คือชื่อของยานสำรวจคันแรกของนาซาที่เดินทางไปดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ. 1997 จากนั้นในปี ค.ศ. 2004 ยานสำรวจสปิริตและออพเพอทูนิตี้ (Spirit and Opportunity) ก็พบหลักฐานว่าดาวเคราะห์แห่งนี้เคยมีแหล่งน้ำไหลก่อนจะกลายเป็นทะเลทรายน้ำแข็ง ต่อมา ยานสำรวจรุ่นน้อง คิวริออซิตี้ (Curiosity) ก็ได้มาเยือนดาวอังคารเมื่อปี ค.ศ. 2012 และค้นพบว่า หลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ซึ่งเป็นพื้นที่ลงจอด เคยเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเมื่อหลายพันล้านปีก่อน และมีสภาพแวดล้อมที่คาดว่าน่าจะสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตในระดับจุลินทรีย์ได้

ดังนั้น Perseverance จึงถูกคาดหวังให้ค้นพบสิ่งที่เหนือกว่า นั่นคือการหาว่ามีสัญญาณว่าชีวิตมีอยู่บนดาวอังคารหรือไม่

3. พื้นที่ลงจอดของยานคือ สถานที่ที่มีโอกาสพบจุลินทรีย์ในอดีตสูง

หลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) นั้นกว้าง 45 กิโลเมตร (28 ไมล์) ตั้งอยู่บนขอบทางทิศตะวันตกของแอ่งยักษ์ Isidis Planitia ซึ่งอยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรดาวอังคาร ที่อุบัติขึ้นจากอุกกาบาตพุ่งชนเมื่อนานมาแล้ว เป็นที่คาดว่า ช่วงเวลาระหว่าง 3 พันล้านถึง 4 พันล้านปีก่อน บริเวณหลุมเจเซโรนี้ มีแม่น้ำไหลผ่านลงสู่แหล่งน้ำที่ขนาดเท่ากับทะเลสาบทาโฮด้วย

เคน ฟาร์ลีย์ (Ken Farley) นักวิทยาศาสตร์ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ที่คาลเทค (Caltech) ในพาซาดีนากล่าวว่า “ทีมวิทยาศาสตร์ได้พูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับสถานที่ที่รถสำรวจดาวอังคารคันต่อไปควรไปลงจอด และในที่สุดเราเลือกหลุมอุกกาบาตเจเซโร เพราะมันเป็นที่ ๆ มีแนวโน้มจะพบโมเลกุลอินทรีย์ และสิ่งอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงสัญญาณของสิ่งมีชีวิตสูง”

ภาพของหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) ถ่ายโดยกล้องบนยาน Reconnaissance
Credit: NASA/JPL-Caltech/ASU

4. การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธรณีวิทยาและภูมิอากาศของดาว คืออีกหนึ่งพันธกิจของยาน Perseverance

ยานโคจรรอบดาวอังคารได้รวบรวมภาพและข้อมูลอื่น ๆ จากหลุมอุกกาบาตเจเซโร จากระยะทางประมาณ 322 กิโลเมตร (200 ไมล์) แต่สำหรับการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวนั้นจะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ดังนั้น รถสำรวจจึงเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นจะช่วยให้เราเข้าใจสภาพภูมิอากาศในอดีตของดาวอังคาร และประวัติทางธรณีวิทยาที่ฝังอยู่ในหิน ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจต่อมาว่า ทำไมโลกและดาวอังคารซึ่งก่อตัวขึ้นจากสิ่งที่เหมือนกันในยุคแรก กลับมีปลายทางของพัฒนาการที่แตกต่างกันมาก

5. ยานมาร์สโรเวอร์ 2020 คือก้าวแรกของการเดินทางไป – กลับดาวอังคาร

ในการพิสูจน์ว่ามีหรือเคยสิ่งมีชีวิตมาก่อนหรือไม่ ยานมาร์สโรเวอร์ 2020 จำต้องนำดินและหินตัวอย่างมาจากดาวอังคารด้วย ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกของการส่งยานสำรวจออกไปและนำมันกลับมายังโลก

โครงการนำตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมายังโลกเป็นการวางแผนร่วมกันโดยองค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) เนื่องจากบนโลก เราสามารถตรวจสอบตัวอย่างด้วยเครื่องมือที่ใหญ่และซับซ้อนซึ่งไม่สามารถส่งไปยังดาวอังคารได้ ณ ห้องปฏิบัติการภาคพื้นดิน นักวิทยาศาสตร์จะสามารถตรวจสอบหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตจากตัวอย่างเกล่านั้นได้อย่างละเอียด

6. เครื่องมือและเทคโนโลยีมากมายที่บรรทุกไปกับยาน จะปูทางสำหรับภารกิจของมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารต่อไปในอนาคต

ระบบนำทางภูมิประเทศแบบสัมพัทธ์จะช่วยให้ยานสำรวจหลีกเลี่ยงอันตรายในระหว่างการลงจอด ทั้งยังมีอุปกรณ์ตรวจจับและเก็บข้อมูล MEDLI2 (Mars Science Laboratory Entry, Descent, and Landing Instrumentation 2) ช่วยรวบรวมข้อมูลสำคัญระหว่างการเดินทางบนดาวอังคาร ซึ่งช่วยให้ภารกิจสำรวจโดยมนุษย์ในอนาคตมีความปลอดภัยและบรรทุกน้ำหนักมาได้มากขึ้น

ยาน Perseverance ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่จะช่วยนักบินอวกาศเมื่อพวกเขาอยู่บนพื้นผิวของโลกอื่น อาทิ ระบบขับขี่ด้วยตนเอง เพื่อการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพบนดาวอังคาร และชุดเครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร (Mars Environmental Dynamics Analyzer: MEDA) ซึ่งจะรวมรวบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และฝุ่นละออง นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีผลิตก๊าซออกซิเจนบนดาวอังคาร (MOXIE) ที่มีจุดมุ่งหมายคือการผลิตออกซิเจนจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเพื่อเป็นเชื้อเพลิงและการหายใจด้วย

ภาพจำลองแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนยานสำรวจ Perseverance
Credit: NASA/JPL-Caltech

7. คุณจะได้เห็นภาพประหนึ่งร่วมทริปขับรถไปบนดาวอังคาร!

ด้วยกล้องจำนวนถึง 23 ตัว ที่ติดไปกับยานสำรวจและอุปกรณ์บนยาน ทำให้ภารกิจนี้กลายเป็นภารกิจที่มีจำนวนกล้องสูงที่สุด มากกว่าภารกิจดาวเคราะห์อื่นใดในประวัติศาสตร์ เราจะได้เห็นมุมมองความละเอียดสูงตั้งแต่การลงจอดของยาน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 และแน่นอนว่า เราคงจะได้เห็นภาพทิวทัศน์และตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ในรายละเอียดที่น่าทึ่งเสมือนได้ไปเดินย่ำสำรวจเอง

เอาละจบกันไปแล้วกับความน่าทึ่งของยานสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)” หรือ “Mars 2020 Rover” แต่นอกจากยานสำรวจแล้ว ภารกิจนี้ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะส่ง ‘เฮลิคอปเตอร์’ นาม “อินเจนูอิตี (Ingenuity)” ขึ้นไปด้วย และนาซาก็ได้เปิดเผยเรื่องน่ารู้ของมันมาให้เราได้เอาใจช่วยกัน (อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

(อ่านเรื่องยาน Ingenuity ที่หน้า 2)

6 เรื่องราวน่ารู้ของเฮลิคอปเตอร์สำรวจอวกาศ Ingenuity

ภาพจำลอง Ingenuity บนพื้นผิวดาวอังคาร
Credits: NASA/JPL-Caltech

1. Ingenuity เป็นการทดสอบการบิน

แม้ว่าเราจะเคยส่งยานต่าง ๆ ไปสำรวจดาวอังคาร แต่นั่นล้วนเป็นการ ‘แล่น’ ‘ร่อน’ หรือ ‘โคจร’ รอบดาว ไม่ใช่การ ‘บิน’

“พี่น้องตระกูลไรต์ได้แสดงให้เห็นว่าการบินที่ขับเคลื่อนด้วยชั้นบรรยากาศของโลกนั้นเป็นไปได้ และด้วย Ingenuity เราก็กำลังพยายามทำแบบเดียวกันนี้บนดาวอังคาร ” ฮาวาร์ด กริป (Håvard Grip) หัวหน้านักบินของ Ingenuity กล่าว

Ingenuity ยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นทดลอง นี่นับเป็นความพยายามทดสอบความสามารถการบินบนดาวอังคารเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ มีการทดสอบเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอื่น ๆ อย่าง Mars Pathfinder ที่เดินทางไปกับยาน Sojourner และ MarsS One Cube One (MarCO) ที่เดินทางไปกับยาน InSight

Ingenuity มีใบพัดคาร์บอนไฟเบอร์ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสี่ใบ โดยจัดวางให้เป็นคู่สองใบพัด หมุนในทิศทางตรงกันข้ามที่ประมาณ 2,400 รอบต่อนาที ซึ่งเร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์โดยสารหลายเท่า นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ และส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้งนี้ มันไม่ได้บรรทุกเครื่องมือวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เหมือนยานมาร์สโรเวอร์ 2020 แต่เป็นการทดลองที่ออกมาแยกต่างหาก

2. นี่คือเครื่องบินลำแรกที่พยายาม ‘บิน’ บนดาวเคราะห์ดวงอื่น

อะไรทำให้การบินบนดาวอังคารนั้นยาก? คำตอบคือ ชั้นบรรยากาศบาง ๆ ของดาวอังคาร เนื่องจากบรรยากาศของดาวอังคารมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลกถึง 99% จึงช่วยยกวัตถุได้ยากยิ่ง Ingenuity จึงต้องมีน้ำหนักเบาสุด ๆ และยังต้องอาศัยใบพัดที่ใหญ่กว่าและหมุนเร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์โดยทั่วไปที่บินอยู่ในมวลชั้นบรรยากาศโลก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเย็นยะเยือกบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร ในยามที่มันเดินทางไปถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้น คาดว่าคืนนั้นอุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง – 90 องศาเซลเซียส (- 130 องศาฟาเรนไฮต์) แม้จะมีการทดสอบการทำงานของ Ingenuity บนโลกในอุณหภูมิดังกล่าว แต่เราก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่ามันจะสามารถทำงานในพื้นที่จริงได้หรือไม่

นอกจากนี้ การสั่งการเฮลิคอปเตอร์ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ผู้ควบคุมการบินที่ JPL จะไม่สามารถควบคุมเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วยจอยสติ๊ก จำต้องสั่งการล่วงหน้า เนื่องจากเป็นการสื่อสารระหว่างดวงดาว ซึ่งระหว่างนั้นอาจเกิดเหตุที่ส่งผลต่อการทำงานของ Ingenuity ได้

3. ชื่อ Ingenuity นี้เป็นชื่อที่ตั้งให้ ยานสำรวจดาวอังคาร 2020 แต่จับพลัดจับผลูมาเป็นชื่อของเฮลิคอปเตอร์

ภาพจำลองยาน Perseverance และเฮลิคอปเตอร์ Ingenuity บนพื้นผิวดาวอังคาร
โดยทั้งสองชื่อนี้ล้วนได้มาจากการประกวดตั้งชื่อยานสำรวจ และผู้ตั้งชื่อก็เป็นนักเรียนทั้งคู่
Credits: NASA/JPL-Caltech

นักเรียนมัธยมปลายนาม วานีซา รุพานี (Vaneeza Rupani) ในรัฐอะลาบาม่า เดิมส่งชื่อ Ingenuity สำหรับการประกวดชื่อยานสำรวจดาวอังคาร 2020 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของนาซา ยอมรับว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ยอดเยี่ยมสำหรับความคิดสร้างสรรค์ของทีม เหมาะกับภารกิจที่ทะยานออกจากพื้นดิน

“ความเฉลียวฉลาดของผู้คนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเอาชนะความท้าทายของการเดินทางอวกาศเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกคนได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการสำรวจอวกาศ” รุพานีกล่าว

4. Ingenuity คือความสำเร็จทางวิศวกรรม

ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 วิศวกรของ JPL แสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะสร้างเครื่องบินที่มีน้ำหนักเบาสามารถสร้างแรงยกที่เพียงพอในบรรยากาศที่บางของดาวอังคาร และสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับดาวอังคาร พวกเขาทดสอบมันพื้นที่พิเศษภายใน JPL ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่ามันน่าจะผ่านการทดสอบการบินขั้นสุดท้ายบนดาวอังคาร

5. ความสำเร็จทีละขั้นของ Ingenuity

ภาพจำลองการบินครั้งแรกของ Ingenuity บนดาวเคราะห์สีแดง หลังทะยานออกจากยานสำรวจ Perseverance
Credits: NASA/JPL-Caltech

ในการสร้าง Ingenuity ทีมผู้สร้างได้จัดทำรายการสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนเป็นขั้น ๆ และทีมจะฉลองทุกครั้งที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญไปอีกขั้น ได้แก่

  • เดินทางไปยังดาวอังคารและลงจอดบนนั้นได้สำเร็จ
  • แยกออกจากยานสำรวจ Perseverance ได้อย่างปลอดภัย
  • รักษาอุณหภูมิ และผ่านค่ำคืนอันหนาวเหน็บบนดาวอังคาร
  • การชาร์จด้วยตนเองโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์
  • และแน่นอนคือ การบินทดสอบครั้งแรก

หากเฮลิคอปเตอร์ประสบความสำเร็จ ทีม Ingenuity จะพยายามบินทดสอบอีกสี่ครั้งภายใน 30 วันบนดาวอังคาร (เทียบเท่ากับ31 วันบนโลก)

6. หากประสบความสำเร็จ Ingenuity จะพลิกโฉมการสำรวจดาวอังคารในอนาคต!

หากการบินของ Ingenuity ประสบความสำเร็จ เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาต่อยอดพัฒนาการใช้งานยานยนต์ด้านการบินขั้นสูงต่อไป ซึ่งน่าจะรวมอยู่ในภารกิจหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดาวและภารกิจนำมนุษย์สู่ดาวอังคารด้วย ช่วยให้สำรวจและเข้าถึงภูมิประเทศที่หลากหลายมากขึ้น

ภาพจำลอง Ingenuity บินเหนือพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อสำรวจภูมิประเทศของดาว
Credits: NASA/JPL-Caltech

ทั้งยาน Perseverance และ Ingenuity จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ณ ฐานปล่อยยานอวกาศ SLC-41 แหลมคานาเวอรัล สหรัฐอเมริกา ด้วยจรวด Atlas V 541 ในวันที่ 30 ก.ค. นี้ ถ้ายังไงอย่าลืมติดตามและเอาใจช่วยให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีกันนาาาา

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส