10 กันยายน NASA ได้ประกาศว่าต้องการซื้อดินหรือก้อนหินบนดวงจันทร์จากบริษัทเอกชน รวมถึงบริษัทนอกสหรัฐฯ โดยให้เก็บรวบรวมชุดของดินและหินในจำนวนเล็กน้อยจากที่ใดก็ได้บนพื้นผิวของดวงจันทร์ จากนั้นให้ถ่ายภาพของกระบวนการเก็บรวบรวมและตัวอย่างวัสดุพร้อมข้อมูลระบุตำแหน่ง แต่ไม่ต้องเอากลับมายังโลก เพราะบริษัทจะต้องส่งมอบให้กับ NASA บนดวงจันทร์

จากนั้นบริษัทต้องโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้แก่ NASA และหลังจากการโอนกรรมสิทธิ์วัสดุที่เก็บรวบรวมไว้ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินของ NASA แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจะต้องเสร็จก่อนปี 2024 ส่วนการจ่ายเงินบริษัทจะได้รับ 10% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด ณ วันเซ็นสัญญา แล้วอีก 10% เมื่อปล่อยยานและที่เหลือ 80% เมื่อส่งมอบวัสดุทั้งหมด ซึ่งคาดว่าโครงการนี้น่าจะมีมากกว่า 1 สัญญาว่าจ้าง

ก่อนหน้านี้ NASA ได้ว่าจ้างบริษัทพันธมิตรขนส่งเครื่องมือการทดลอง เครื่องเอ็กซ์เรย์ภาพ และภาชนะสูญญากาศสำหรับบรรจุวัสดุตัวอย่างไปยังดวงจันทร์ และบริษัทเหล่านี้จะมีส่วนในการใช้ยานรับวัสดุตัวอย่างกลับมาสู่โลกด้วยนั่นเอง

ข้อสรุปของโครงการนี้ คือ อนุญาตให้ดึงทรัพยากรในอวกาศมาซื้อขายกันได้ โดยไม่ต้องผูกขาดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบริษัทอาจจะนำวัสดุส่วนที่ขุดเกินมาขายให้ผู้ซื้อรายอื่นที่ไม่ใช่ NASA หรือประเทศอื่นด้วยก็ได้ เพื่อขับเคลื่อนการสำรวจอวกาศให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งหมด

https://twitter.com/JimBridenstine/status/1304049845309669376?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1304049845309669376%7Ctwgr%5Eshare_3&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.cnet.com%2Fnews%2Fnasa-wants-to-buy-moon-rocks-from-private-companies%2F

NASA มีโครงการ Artemis สำหรับส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปลงไปเหยียบบนพื้นดวงจันทร์ในปี 2024 และขยายไปสู่ดาวอังคาร จึงต้องการกลับไปสำรวจดวงจันทร์อย่างปลอดภัยและตั้งฐานบนดวงจันทร์ในระยะยาวเพื่อตรวจสอบระบบและการปฏิบัติการในห้วงอวกาศก่อนเดินทางต่อไปยังดาวอังคารที่ไกลมากขึ้น

สรุปง่าย ๆ ว่าดินและหินบนพื้นผิวบนดวงจันทร์จะถูกนำไปศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อต้องการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น เปลี่ยนน้ำแข็งเป็นเชื้อเพลิงจรวดหรือนำแร่ธาตุมาสร้างเป็นฐานลงจอด ซึ่งจะช่วยให้การสำรวจดวงจันทร์มีความยั่งยืนขึ้นและขยายสู่การสำรวจอวกาศที่ไกลออกไป

ที่มา : cnet, engadget, techcrunch และ blogs.nasa.gov ภาพจาก : pixy.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส