จากข่าวสนิมบนดวงจันทร์ ทำให้เรานึกได้ว่า นอกจากแร่สีแดงที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นบนนั้นแล้ว ยังมีของอีกหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่บนดวงจันทร์ด้วย แต่คราวนี้มันไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ แต่เป็นเพราะน้ำมือมนุษย์ต่างหาก
ในทุกการเดินทาง เราต่าง ‘ทิ้ง’ อะไรบางอย่างเอาไว้เบื้องหลัง คำกล่าวนี้ไม่ผิดนัก และสำหรับการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ดูเหมือนจะมีของที่ทิ้งเอาไว้มากมายเสียยิ่งกว่าภาพจำของมวลมนุษย์ชาติ บางอย่างก็เป็นที่เข้าใจได้ บางอย่างก็เหนือคาดเหลือเชื่อ จะมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูกัน
เหล่าของที่ทิ้งไว้เพื่อภารกิจ
นาซาได้จัดทำบันทึกรวบรวมรายการวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น และได้ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ พบว่ามันมีจำนวนถึง 796 รายการ (บันทึกนี้อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2012 ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบันนี้น่าจะมีของที่ทิ้งไว้เพิ่มขึ้นอีก) โดย 765 รายการมาจากภารกิจของสหรัฐอเมริกา แถมยังกระจัดกระจายไปทั่ว ขัดกับภูมิทัศน์อันโดดเดี่ยวของดวงจันทร์เสียจริง
แล้วเหตุใดจึงต้องทิ้งของไว้ให้บนดวงจันทร์ด้วยกันเล่า แน่นอนว่าในแต่ละภารกิจสำรวจ บางครั้งการทิ้งไว้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างอาจจะเกิดความเสียหายขณะร่อนลงจอด หรือปฏิบัติภารกิจไปแล้ว เกิดมีเหตุให้อุปกรณ์ขัดข้อง จึงจำต้องทิ้งไว้ ในขณะที่ของบางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่วางแผนไว้อยู่แล้วว่าต้องไปทิ้งไว้บนนั้น
ทิ้งไปทั้งยาน พลีชีพเพื่อการเดินทางของมนุษยชาติ
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่อให้ได้ภาพของดวงจันทร์ ที่ช่วยกำหนดขอบเขตพื้นที่ลงจอดที่เป็นไปได้ ยานอวกาศแรนเจอร์ (Ranger spacecraft) หลายลำที่ปฏิบัติภารกิจที่ไม่ค่อยมีใครรู้นี้ มีหลายลำที่ไม่สามารถทำภารกิจลุล่วง ยานแรนเจอร์ลำที่ 4 6 7 8 และ 9 ชนเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์ หรือยานสำรวจดวงจันทร์ (Lunar Orbiters) ที่โคจรรอบดวงจันทร์ และพุ่งชนดวงจันทร์ทันทีหลังบันทึกภาพเสร็จสิ้น




Credit: lpi.usra.edu
กระจกสะท้อนเลเซอร์อันโด่งดัง ผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลสำคัญแก่โลก
ยานสำรวจลูโนฮอด 1 เดินทางไปกับยานลูนา 17 ของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1970 เพื่อปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ บนยานสำรวจนั้นมี ‘กระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ (Retroreflector mirrors)’ เพื่อใช้วัดระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และหาวงโคจรของดวงจันทร์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น ทว่า หลังจากการติดต่อระหว่างยานกับโลกสิ้นสุดลงในปีถัดมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ชะตากรรมของยานสำรวจที่บรรทุกกระจกนี้อีกนานถึง 40 ปี เลยทีเดียว
อุปกรณ์สะท้อนแสงหรือกระจกที่ว่านี้ ยิ่งมีจำนวนกระจกที่อยู่บนดวงจันทร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่มากและแม่นยำขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของกระจกสะท้อนแสงเลเซอร์บานแรกถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด จำเป็นยิ่งต่อการสร้างแผนที่การโคจรที่สมบูรณ์
โชคยังเข้าข้างอยู่บ้างที่ยานอวกาศลูนาร์ริคอนนิเซนซ์ (Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ของนาซาพบตำแหน่งของลูโนฮอด 1 ในภายหลังเมื่อปี 2010 แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่มีความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งไม่ถึง 1 เซนติเมตร และมีค่าสัญญาณสะท้อนที่สว่างกว่ากระจกของลูโนฮอด 2 ถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ทั้งยาน LRO ของนาซา และยานในภารกิจของอะพอลโล ก็มีอุปกรณ์สะท้อนแสงขนาดหย่อมติดตั้งอยู่กับยานด้วยเช่นกัน นั่นก็เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของแผงกระจกรุ่นเก๋า เนื่องจากตัวสะท้อนแสงรุ่นก่อนหน้าน่าจะส่งสัญญาณกลับมาอ่อนลง ทำให้ยากต่อการใช้ศึกษาขึ้นเรื่อย ๆ


Credits: NASA/D. Scott
นอกจากการวัดระยะทางและอัตราการโคจรที่แม่นยำแล้ว กระจกที่ถูกทิ้งไว้เหล่านี้ยังช่วยให้เราค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือโลกและดวงจันทร์ค่อย ๆ ถอยห่างออกจากกันในอัตราประมาณ 1.5 นิ้ว (3.8 เซนติเมตร) ต่อปี ช่องว่างที่กว้างขึ้นนี้เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์แรงโน้มถ่วงระหว่างดาวทั้งสองนั่นเอง
สิ่งละอันพันละน้อยเบื้องหลังภารกิจ
นอกจากสิ่งประดิษฐ์ใหญ่ ๆ แล้ว แต่ละภารกิจยังมีอุปกรณ์สนับสนุนนั่นนิดนี่หน่อยทิ้งไว้เบื้องหลังอีกหลายอย่าง อาทิ ‘ระบบช่วยชีวิตแบบพกพา (Portable Life Support Systems)‘ ในชุดของนักบินอวกาศ ซึ่งภายในยังมีแบตเตอรี่ รีโมตคอนโทรล และวาล์วที่เกี่ยวข้องที่ถูกทิ้งไว้เช่นกัน
เพราะมันไม่มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าบนดวงจันทร์ ดังนั้นนักบินอวกาศจึงต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นเติมพลังให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้พลังงานในปริมาณมาก ดังนั้นในทุกภารกิจของอะพอลโล นักบินอวกาศจึงต้องนำ’เครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (Radioisotope Thermal Generator: RTG) ‘ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลูโตเนียมไปด้วยเสมอ


Credit:
นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลและเก็บตัวอย่างในแต่ละภารกิจเอง ก็ถูกทิ้งไว้ที่นั่นหลังใช้งานเสร็จเช่นกัน มีทั้ง ‘แมกนีโตมิเตอร์’ ‘อุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหว’ ‘เครื่องตรวจจับอิออน’ รวมทั้ง ‘กล้อง’ ทั้งแบบบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอที่ใช้ในการส่งภาพกลับมายังโลก รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กันหลายอย่างทั้ง ‘เลนส์’ ทริกเกอร์ ที่ยึดจับและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)