ด้วยเหตุที่การสังเกตการณ์ริ้วรอยบนดวงจันทร์จะทำได้ง่ายกว่าปกติ ในค่ำคืนที่ดวงจันทร์เว้าแหว่ง (ช่วงจันทร์ดับสังเกตไม่ได้เนื่องจากไม่มีแสง ส่วนจันทร์เพ็ญก็สว่างเกินไป มองเห็นหลุมต่าง ๆ บนดวงจันทร์ได้ยาก) องค์การอวกาศนาซา (NASA) จึงแจกแผนที่ดวงจันทร์ และเชิญชวนสาวกผู้ชื่นชอบดวงดาวทั่วโลก ร่วมสังเกตดวงจันทร์ในคืนแห่งการสำรวจดวงจันทร์นานาชาติในคืน 26 ก.ย.63 ไปด้วยกัน

สำหรับแผนที่ดวงจันทร์นั้น นาซาได้จัดทำมาในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งจะมีภาพดวงจันทร์ที่มีรายละเอียดคมชัดสูง เบื้องต้นจะมีการแนะนำพื้นที่กว้าง ๆ โดยภาพรวม ด้วยรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม

โดยรูปสี่เหลี่ยม เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า มาเรีย (Maria) แอ่งต่าง ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเป็นบริเวณที่เป็นท้องทะเลมาก่อน ที่จริง ๆ แล้ว มันเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่มีลาวาบะซอลต์แข็งตัว สามารถดูได้ในกล้องส่องทางไกลหรือแม้กระทั่งมองด้วยตาเปล่า (หากพื้นที่ที่สังเกตฟ้าใสได้เมฆและมลภาวะทางแสง) และหากมองไปทางขอบด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของดวงจันทร์ จะเห็นเศษเสี้ยวของดวงจันทร์ด้านไกล ซึ่งปกติแล้วจะเห็นได้ยากด้วย

ส่วนรูปวงกลม แสดงพื้นที่ที่ยานอะพอลโลทั้งหมด (ภารกิจอะพอลโล 11, 12, 14, 15, 16 และ 17) เคยไปลงจอด สถานที่เหล่านี้แต่ละแห่งมีเสน่ห์แตกต่างกันไปด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ที่ราบเรียบไปจนถึงที่ราบสูงโบราณที่ขรุขระ

สำหรับรูปสามเหลี่ยม เป็นตำแหน่งที่นาซาแนะนำว่า มีลักษณะพื้นผิวหรือรูปร่างที่น่าสนใจ อันเกิดจากความเหมาะสมของแสงจันทร์ในค่ำคืนนี้โดยเฉพาะ

เมื่อเจาะลึกรายละเอียดในแผนที่ใหญ่ จะมีกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงบ่งบอกถึงบริเวณเฉพาะที่น่าสนใจลงลึกลงไป หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องสำรวจ แนะนำว่าให้ส่องไปในบริเวณนั้นแล้วลองไล่ตามจุดที่มีกากบาทสีแดง อย่างในภารกิจอะพอลโล จะมีการชี้ให้เห็นจุดที่แต่ละภารกิจลงจอด พร้อมคำอธิบายว่า เหตุใดจึงต้องจอดตรงนี้ มีใครเป็นนักบินอวกาศที่ได้ลงสำรวจพื้นที่ตรงนั้นบ้าง และสักษณะสันฐานของบริเวณแถบนั้นเป็นอย่างไร ทำให้เราชมจันทรืไปพร้อมสาระความรู้ ประหนึ่งเหมือนไปได้ทัวร์บนดวงจันทร์เลยทีเดียว

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแผนที่ได้ ที่นี่ มีทั้งแบบสังเกตจากท้องฟ้าในซีกโลกเหนือและใต้ สำหรับเราชาวไทยนั้น ประเทศตั้งอยู่ในเขตซีกโลกเหนือก็กดโหลดที่คำว่า ‘Northern Hemisphere Points of Interest’ แล้วเริ่มภารกิจส่องสำรวจทัวร์ดวงจันทร์กันได้เลย

อ้างอิง

NASA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส