ใกล้สิ้นปีแล้ว ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เอง ก็เหลืออีกไม่มากเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘จันทรุปราคาเงามัวครั้งสุดท้ายของปี’ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยว่าค่ำวันที่ 30 พ.ย. 63 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ชวนผู้สนใจสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเงามัว” ตั้งแต่เวลาประมาณ 14:32 – 18:53 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เป็นจันทรุปราคาเงามัว ครั้งสุดท้ายในรอบปี สังเกตได้ในบริเวณทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 14:32 น. และจะเข้าสู่เงามัวมากที่สุดเวลาประมาณ 16:42 น. จากนั้นดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามัว จนถึงเวลาประมาณ 18.53 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์ 

สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:49 น. ไปจนถึงเวลา 18:53 น. มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง 4 นาที 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเล็กน้อยเท่านั้น จึงสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้สังเกตได้ทั่วประเทศ หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส