“จาร์วิส! เตรียมยิงลำแสงและเปิดระบบการบิน ยิงได้เลย!” ประโยคเด็ดของโทนี่ สตาร์ค มหาเศรษฐีนักประดิษฐ์จากจักรวาลมาร์เวล และนานาภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในอเวนเจอร์ซีรีส์ ถูกกล่าวซ้ำอีกครั้งภายในสตูดิโอศิลปะ แต่ไม่ใช่แค่เพียงบทพูดจากภาพยนตร์เท่านั้น แต่มันเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติการจริงด้วย !

ตามที่สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โทลกา โอซุยกูร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบิลกีในนครอิสตันบูลของตุรกี ออกแบบชุดเกราะของไอรอนแมน (Iron Man) ขึ้นมาใหม่ โดยใช้เวลารวมเกือบ 1 ปี 6 เดือน นำเอาเทคโนโลยีทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพิมพ์ 3 มิติ มาพัฒนาระบบและรังสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานสุดเนี้ยบ ที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ไม่มีผิด

ในภาพยนตร์และการ์ตูน ‘ไอรอนแมน’ เป็นฮีโรที่มาพร้อมชุดเกราะที่ทันสมัย ควบคุมโดยโพรแกรมคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ ‘จาร์วิส (Jarvis)’ ซึ่งทำงานผ่านระบบสั่งการด้วยเสียง จาร์วิสของโอซุยกูร์ ก็มีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายและสามารถตอบสนองชุดคำสั่งต่าง ๆ ผ่านระบบสั่งการด้วยเสียงเช่นกัน ทั้งการเปิดและปิดหมวกกันน็อก การยิงลำแสงบริเวณฝ่ามือสองข้าง และการเปิดใช้งานระบบเอฟเฟกต์การบินด้านหลัง 

โอซุยกูร์เป็นผู้สอนรายวิชาเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในคณะออกแบบนิเทศศิลป์ เขามองว่าผลงานของตนเป็นการพัฒนาทดลองโครงการวิศวกรรม ครอบคลุมศาสตร์หลายแขนง ตั้งแต่วิศวกรรม การออกแบบหุ่นยนต์และการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ วิชาช่างไม้และการตัดเย็บ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เชื่อมโยงสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำเข้าด้วยกัน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน

“มันคือการนำความคิดของคุณไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ไม่ว่ามันจะดูไร้สาระแค่ไหนก็ตาม”

โอซุยกูร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว

ความแตกต่างของชุดเกราะนี้กับชุดอื่น ๆ ที่เคยมีผู้ออกแบบมา คือนอกจากจะดูสวยงามสมจริงแล้ว มันยังประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่น่าทึ่งด้วย โอซุยกูร์กล่าวว่า สิ่งที่สร้างแรงกดดันและความกดดันให้เขามากที่สุดคือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาร์กภายในหน้าอกของจาร์วิส เขาต้องทำวิจัยมากมาย โดยเขาเลือกใช้แบตเตอรี่ลิเทียมที่ผลิตพลังงานจำนวนน้อยมาก ซึ่งเป็นนิวเคลียร์ที่มีความปลอดภัยสูง มักใช้การสำรวจอวกาศ

เพราะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์จริงเข้ามา จึงต้องป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกไฟไหม้ขณะสวมชุดเกราะ การสวมและถอดชุดเกราะจึงมีหลายขั้นตอนสุด ๆ กว่าจะดูเท่สมจริงแบบนี้ได้ โอซุยกูร์ต้องใช้เวลาสวมใส่ชุดเกราะเกือบหนึ่งชั่วโมงด้วยความช่วยเหลือจากคนอีก 2 คน โดยมีผู้ช่วยอย่างน้อย 1 คนคอยถือเครื่องดับเพลิงสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

แม้จะยังสวมใส่ไม่รวดเร็วและใช้งานได้ไม่เหมือนกับในภาพยนตร์เป๊ะ ๆ แต่หากโอซุยกูร์และทีม หรือนักวิทยาศาสตร์ยังพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นโทนี่ สตาร์คและไอรอนแมนในโลกแห่งความเป็นจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ก็ได้

อ้างอิง

Xinhua

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส