ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัวไปกว่าความดื้อรั้นของเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาเริ่มที่จะเข้าใจความต้องการของตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร คำพูดที่ผู้ใหญ่มักจะได้ยินคือคำว่า “ไม่” และดูจะเป็นงานยากที่จะให้เด็กทำอะไรบางอย่างโดยที่ไม่ได้รับเสียงกรีดร้องหรือการปฏิเสธกลับมาแทน แต่ดูเหมือนว่าความดื้อเหล่านี้จะมีอะไรแอบแฝงอยู่เหมือนกัน

จากรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาพัฒนาการ ได้พูดถึงสองข้อหลักที่คาดว่าจะทำให้เด็ก ๆ มีรายได้สูงในวัยทำงานนั่นก็คือ การแหกกฎและต่อต้านผู้ปกครอง 

นักวิจัยได้ทำการติดตามเด็ก 700 คนตั้งแต่อายุประมาณ 8 ขวบไปจนถึงวัยกลางคน รวมถึงอาศัยข้อมูลจาก MAGRIP ซึ่งเริ่มศึกษาในปี 1968 โดยมีการประเมิณลักษณะบุคลิกภาพ เช่น การถือสิทธิของตัวเอง, การต่อต้าน และความรู้ทางวิชาการ ในเด็กอายุ 8 – 12 ปี และได้ติดตามว่าหลังจากนั้น 40 ปี ชีวิตของเด็ก ๆแต่ละคนเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าเด็ก ๆ ที่ดื้อรั้นหลาย ๆ คนประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษา และมีรายได้สูงเมื่อโตขึ้น

แต่ต้องกล่าวว่า ด้วยลักษณะของข้อมูลที่เก็บได้นั้น อาจสรุปได้เพียงแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น และต้องมีการทดลองซ้ำ หากไม่มีตัวแปรอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจสันนิษฐานได้ว่าเด็กที่ได้คะแนนสูง การทดสอบสูงจะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น เนื่องจากพวกเขามีความสามารถในการพูดและต่อรองในสิ่งที่ตนต้องการในช่วงเวลาสำคัญ เช่น การต่อรองการขึ้นเงินเดือน เป็นต้น

อีกนัยนึงก็คือเด็กที่หัวรั้นจะเรียนรู้ที่จะกล่าวปฏิเสธและเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งจากข้อมูลบอกได้ว่าเด็กที่ได้คะแนนด้าน ‘ความประนีประนอม’ น้อยก็จะมีรายได้ที่สูงมากเช่นกัน

โดยการทดลองนี้ยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนและยังไม่ได้อธิบายถึงทางเลือกในชีวิตและอาชีพที่ส่งผลต่อรายได้ อย่างไรก็ตามทางนักวิจัยยังสามารถอธิบายเหตุผลบางส่วนได้ หนึ่งในนั้นคือ คนที่ดื้อรั้นจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากกว่าความสัมพันธ์ และต้องการเพิ่มผลประโยชน์ของตนเองให้มากขึ้นเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ นอกจากนี้ คนที่ชอบแหกกฎจะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นนั่นเอง

นักวิจัยสรุปในบทความว่า “ลักษณะและพฤติกรรมของเด็กๆแต่ละคนที่แสดงออกเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของเขามากกว่าเศรษฐกิจ สังคมและความสามารถในการเรียน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่แค่เพียงแค่การมีพื้นฐานการเรียนที่ดี หรือการเกิดมาในครอบครัวที่ได้เปรียบทางสังคม ลักษณะและพฤติกรรมในช่วงวัยเด็กต่างหากที่จะป็นตัวกำหนดอนาคตของเด็ก ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิง BusinessInsider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส