สนามบินดูไบนับว่าเป็นอีกหนึ่งสนามบินที่มีคนพลุกพล่านที่สุดในโลกสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งตัวสนามบินยังเต็มไปด้วยร้านค้าปลอดภาษีที่อลังการ มีอาคารผู้โดยสารที่สวยงามและล้ำสมัยด้วย ล่าสุดกำลังจะเปิดตัวอีกส่วนเพิ่มเติมนั่นคือ ‘เครื่องสแกนม่านตาอัจฉริยะ’ ที่สามารถยืนยันตัวตนของคุณได้แทนหนังสือเดินทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการเดินโดยใช้เครื่องบิน

นับเป็นโครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล่าสุดที่ทางยูเออีหรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดตัวออกมาท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้น จุดประสงค์ของเทคโนโลยีดังกล่าวคือเพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ของนักท่องเที่ยวที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นด้วย

ระบบสแกนม่านตานี้ใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ที่ออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลทางชีวภาพที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล คล้ายกับการสแกนนิ้ว แต่เปลี่ยนไปใช้ที่ใบหน้าแทน

ปัจจุบัน สนามบินดูไบเริ่มให้บริการโปรเจกต์นี้แก่ผู้โดยสารทุกคนเรียบร้อยแล้ว วิธีการคือนักท่องเที่ยวเพียงแค่ยื่นหน้าเข้าที่เครื่องสแกนม่านตาหลังจากเช็กอินก็เป็นอันเสร็จสิ้น ทำให้เพิ่มความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวและลดการสัมผัสให้น้อยลง เมื่อสแกนเสร็จสามารถผ่านประตูไปได้เลยโดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที ไม่ต้องใช้การตรวจหนังสือเดินทางแบบเดิม หมดยุคไปกับตั๋วกระดาษหรือแอปโทรศัพท์ที่ต้องพกให้รุงรังอีกต่อไป

ทั้งนี้ระบบสแกนม่านตานั้นถือว่าเป็นระบบที่มีความแม่นยำมากกว่าการสแกนใบหน้า เพราะถ้าเป็นระบบสแกนใบหน้า มันอาจจะมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องสแกนจากระยะที่ไกลกว่า แต่กลับกันถ้าเป็นระบบสแกนม่านตา ตัวเครื่องจะบังคับให้นักท่องเที่ยวต้องยื่นหน้าเข้ามาใกล้ ๆ กับเซนเซอร์เพื่อระบุตัวตน จึงมีความแม่นยำมากกว่า รวมถึงพาสปอร์ตแบบเล่มยังสามารถถูกปลอมได้ด้วย ต่างจากม่านตาที่แทบไม่สามารถทำของปลอมออกมาได้เลย

เจ้าหน้าที่ของดูไบกล่าวว่า ทางสนามบินจะใช้วิธีเชื่อมต่อข้อมูลม่านตาของนักท่องเที่ยวกับฐานข้อมูลประชาชนของยูเออีโดยตรง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสนามบินกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องพกหนังสือเดินทางอีกต่อไป

แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่แย้งถึงเรื่องประเด็นความเป็นส่วนตัว เพราะเทคโนโลยีนี้จะเก็บข้อมูลใบหน้าและดวงตาของเราไป ทั้งยังมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวจากฐานข้อมูลประชาชนอีก ซึ่งยูเออียังถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการสอดส่องนักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส