หลายคนอาจรู้สึกว่าทำไมแดดช่วงนี้ถึงได้อยู่กับเรานานเป็นพิเศษ เหตุก็คือกำลังจะเข้าสู่ “วันครีษมายัน” หรือวันที่มีช่วงเวลายาวนานที่สุดในรอบปีในวันที่ 21 มิ.ย. นี้ นั่นเอง

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็น “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ที่มีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที จึงเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกใต้ 

เหตุที่แต่ละช่วงของปี ดวงอาทิตย์ขึ้นตกแตกต่างกันไป เป็นเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ หมุนรอบตัวเอง อีกทั้งยังมีแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแกนตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ระหว่างโคจรไป บริเวณต่าง ๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดเป็นฤดูกาลบนโลกนั่นเอง

นอกจากสภาพอากาศและฤดูกาลที่ผันแปรไป สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) ยังกำหนดให้วันที่ 21 มิ.ย. นี้เป็นวันดาราศาสตร์ในโรงเรียนประจำปี 2564 (Astronomy Day in School) สดร. หรือ NARIT ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศ จึงขอเชิญชวนโรงเรียนเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และโรงเรียนที่สนใจ ร่วมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ “หาขนาดของโลกด้วยวิธีของ Eratosthenes” และส่งภาพกิจกรรมเข้าร่วมประกวด ลุ้นรับชุดสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ น้องๆ หรือ คุณครูท่านใจสนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ http://bit.ly/NARIT-AstronomyDayInSchools2021_TH

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส