ในช่วงเวลาไม่นานก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ได้ทำให้เราเข้าใกล้หลุมดำไปอีกก้าว โดยพวกเขาสามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก และในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการดาราศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ค้นพบ ‘แสง’ ที่อยู่ด้านหลังของหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ไกลออกไป 800 ล้านปีแสงได้!

แดน วิลคินส์ (Dan Wilkins) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญเพื่อไขปริศนาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับจักรวาล อีกทั้งการค้นพบครั้งนี้ยังช่วยยืนยันอีกด้วยว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้นถูกต้อง

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษา ‘Flares’ ซึ่งเป็นรังสีเอกซ์ (X-rays) ที่มีความสว่างจ้าอย่างมาก พวกเขาก็ได้ค้นพบกับ ‘Corona’ ซึ่งให้กำเนิดรังสีเอกซ์ที่อยู่เหนือหลุมดำ 60 ล้านกิโลเมตร และยังได้พบกับแสงสะท้อน (Light echoes) ซึ่งเป็นแสง Flares ที่สะท้อนออกมาจากกลุ่มแก๊สด้านหลังหลุมดำ เป็นปรากฎการณ์ที่ไอน์สไตน์ทำนายเอาไว้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 1916

Black hole
แหล่งที่มา: ESA

วิลคินส์อธิบายว่า แสงใด ๆ ที่เข้าไปในหลุมดำจะไม่สามารถออกมาได้ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรจะเห็นอะไรก็ตามเบื้องหลังหลุมดำ แต่เหตุผลที่เราสามารถเห็นได้เป็นเพราะ หลุมดำสามารถวาร์ปห้วงอวกาศ ทำให้แสงโค้งงอ และบิดสนามแม่เหล็กรอบตัวมันได้

หลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive black hole) นี้มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของโลกเรา 10 ล้านเท่า และมีตำแหน่งอยู่ในใจกลางของกาแล็กซีที่ห่างออกไปที่ชื่อว่า I Zwicky 1 โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ XMM-Newton ของ European Space Agency และ NuSTAR ของ NASA ในการค้นพบแสงสะท้อน (Light echoes) นี้ และได้ตีพิมพ์การค้นพบลงในวารสาร Nature

รังสีเอกซ์ที่สะท้อนบนแก๊สหลังหลุมดำนั้นโค้งไปรอบ ๆ หลุมดำ ทำให้เกิดแสงแฟลชขนาดเล็กที่ส่งมาถึงกล้องโทรทรรศน์ทั้ง 2 ด้วยความล่าช้าหลายนาที นำมาสู่ภาพเรนเดอร์ที่ทำให้เราเห็นภาพปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น

เครดิต: Dan Wilkins

สีของลำแสงเหล่านี้ และสีของแสงสะท้อน รวมถึงเวลาที่ช้าไปจากแสงต้นกำเนิด (original flare) บอกเราว่า สิ่งนี้มาจากการสะท้อนของแก๊สที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของหลุมดำ บางส่วนของมันจะส่องแสงกลับไปที่แก๊สที่ถูกดูดลงสู่หลุมดำ และนี่ทำให้เราได้เห็นภาพวาระสุดท้ายของมันก่อนที่จะถูกดูดหายไปภายในหลุมดำ

แดน วิลคินส์ (Dan Wilkins) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

อ้างอิง: Engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส