ช้างแมมมอธ (Mammoth) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้างที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปยุโรปและเอเชียเหนือ เช่น ไซบีเรีย ยกเว้นออสเตรเลียและอเมริกาใต้ เป็นช้างที่มีลำตัวและงาใหญ่กว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก แมมมอธถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 2.6 ล้านปีก่อน ในยุคไพลโอซีนตอนต้น และสูญพันธุ์อย่างสิ้นเชิง เมื่อ 11,700 ปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในแถบอ่าวซานฟรานซิสโกได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา และประกาศกร้าวว่าพวกเขาจะสามารถคืนชีพให้ช้างแมมมอธได้สำเร็จภายในปี 2027 นี้ โปรเจกต์ดังกล่าวนี้จะดำเนินการด้วยเทคโนโลยี CRISPR (CRISPR/Cas9 คือเทคนิคการตัดต่อยีนซึ่งสามารถแก้ไขความบกพร่องต่างๆ ได้อย่างแม่นยำตรงจุดใน ระดับดีเอ็นเอ) โปรเจกต์นี้ได้รับทุนเริ่มต้นมาแล้ว 15 ล้านเหรียญ

ฟอสซิลลูเป้

ย้อนไปเมื่อปี 2005 โรเจอร์ คาสทิลโล (Roger Castillo) ชายชาวเท็กซัสผู้หนึ่งได้จูงหมาไปเดินเล่นริมฝั่งแม่น้ำกัวดาลูเป แล้วเขาก็บังเอิญเจอโครงกระดูกใหญ่โผล่พ้นมาจากโคลนริมชายฝั่ง กลายเป็นว่านั่นคือการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะนั่นคือฟอสซิลของโคลัมเบียน แมมมอธ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 10,000 ปี การค้นพบครั้งนั้น เป็นการยืนยันสมมติฐานที่ว่า นี่คือแมมมอธสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด และเคยมีพวกมันอยู่ทั่วไปหมดในย่านซิลิคอนแวลเลย์

Lupe ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก (Children’s Discovery Museum)

ภายหลังโครงกระดูกแมมมอธชุดนี้ ได้ถูกนำไปขึ้นแบบจำลองว่าตอนแมมมอธตัวนี้มีชีวิตจะมีรูปร่างลักษณะเช่นไร และนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก (Children’s Discovery Museum) มีการตั้งชื่อเล่นให้ด้วยว่า “Lupe” ตามชื่อแหล่งที่ค้นพบ จากวันนั้น ร่างของ ‘ลูเป’ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่มนุษย์ได้เคยรู้จักแมมมอธที่สุดแล้วนับตั้งแต่อดีตกาลมา แต่จากนี้ไปจะไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เราอาจจะได้เห็นแมมมอธตัวเป็น ๆ กันในอีกไม่นานนี้

“นี่มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่มาก ๆ สำหรับเราเลยละ ฉันนี่แทบไม่กล้าจินตนาการเลยว่ามันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร”
แมริลี เจนนิงส์ (Marilee Jennings) ผู้อำนวยการบริหารพิพิธภัณฑ์เด็ก ซานโฮเซ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

นึกย้อนไปในปี 1993 ที่เราได้เห็นเทคโนโลยีที่ว่านี้ในหนัง Jurassic Park แต่ไม่น่าเชื่อว่าในอีก 30 กว่าปีต่อมา เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้

ศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เดาด์นา (Jennifer Doudna)

เทคโนโลยีที่ว่านี้มีชื่อว่า “การตัดต่อพันธุกรรม CRISPR” ที่ร่วมคิดค้นขึ้นมาโดย ศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เดาด์นา (Jennifer Doudna) เธอและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้กลไกทางพันธุกรรมคืนชีพให้กับแมมมอธได้สำเร็จภายในปี 2027 นี้

“ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเราฟื้นคืนชีพให้กับช้างแมมมอธขนยาว แต่เป็นการสร้างช้างขึ้นมาใหม่ผ่านกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรม”
ดร.แจ็ก เจิ้ง (Jack Tseng) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาเชิงบูรณาการ แห่งมหาวิทยาลัย ยูซี เบิร์คเลย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ดร.แจ็ก เจิ้ง (Jack Tseng)

ผู้สื่อข่าวยังถามย้ำต่อไปกับ ดร.แจ็ก เจิ้ง อีกว่า โปรเจกต์นี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้จริงเพียงใด
“ผมคิดว่าประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในวันนี้ที่ทำให้หลายอย่างเป็นจริงได้แล้ว เราก็สามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นได้เช่นกัน”

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังได้เผยถึงจุดมุ่งหมายในการคืนชีพเหล่าแมมมอธให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็เพื่อให้เหล่าแมมมอธได้ช่วยลดปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ชาวโลกเผชิญวิกฤตกันอยู่ เพราะในขณะนี้จำนวนพืชพรรณทางแถบอาร์กติกลดจำนวนลงไปมาก ทำให้เกิดการเสียสมดุลและทำให้มีการแพร่กระจายของคาร์บอนมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์มองว่าในอดีตกาลนั้นเหล่าแมมมอธเคยช่วยปรับสมดุลต่อภาวะเหล่านี้ได้ เมื่อเราฟื้นคืนชีพแมมมอธกลับมา พวกมันน่าจะช่วยปรับสมดุลให้สำเร็จได้อีกครั้ง

ภาพจำลองของแมมมอธขนยาว

ย้อนกลับไปมองบทเรียนจากในหนัง Jurassic Park อีกครั้ง ที่สุดท้ายเราได้เห็นไดโนเสาร์ออกมาอาละวาดจนเกินที่จะควบคุมได้ วันนี้ที่เทคโนโลยีใกล้มาถึงจุดนั้นแล้ว ต่อให้เราฟื้นคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์พวกนี้กลับมาได้ แต่ที่จริงแล้วเราควรทำเช่นนี้หรือไม่ ดร.แจ็ก เจิ้ง ก็ตอบคำถามข้อนี้ว่า ทางทีมนักวิทยาศาสตร์จะร่วมทดสอบกันอีกมากก่อนที่จะเดินหน้าในก้าวต่อไป

“ในความคิดผมนะ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถทำเรื่องดี ๆ ได้อีกมาก จากการใช้เทคโนโลยีนี้มาปกป้องและอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไว้ได้ ส่วนเรื่องที่จะสร้างอะไรขึ้นมาในห้องแล็บนั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่เราอาจจะเพาะสร้างขึ้นมาแล้วค่อยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่เราจะยังไม่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์พาเราไปถึงจุดนั้นหรอก จนกว่าเราจะศึกษาทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสียก่อน”

ดร.แจ็ก เจิ้ง ยังทิ้งท้ายไว้ว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์มี DNA ของสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกหลายสายพันธุ์เก็บรักษาไว้ ฉะนั้นการคืนชีพแมมมอธนี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น

อ้างอิง อ้างอิง