23 มี.ค. นาซา (NASA) ประกาศแผนเปิดรับบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนายานนำส่งนักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์เพิ่มเติมอีกหนึ่งรายภายใต้โครงการอาร์เทมิส (Artemis) ในการนำผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปลงเหยียบบนพื้นดวงจันทร์ ซึ่งเมื่อ เม.ย. 2021 นาซาได้คัดเลือกสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ไว้เพียงบริษัทเดียว

นาซาประกาศว่ายินดีรับการเสนอแนวคิดจากบริษัทอเมริกันเกี่ยวกับการพัฒนายานขนส่งนักบินอวกาศจากสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์ไปลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์สำหรับภารกิจถัดจาก Artemis III ซึ่งจะส่งนักบินอวกาศคนแรกลงบนดวงจันทร์ในรอบกว่า 50 ปี

โครงการอาร์เทมิสมีแผนที่จะส่งมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบบนดวงจันทร์ที่ขั้วใต้ภายในปี 2024 เริ่มจาก Artemis I จะทดสอบปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion ไปโคจรรอบดวงจันทร์ 6 วันแล้วบินกลับสู่โลก ซึ่งจะเริ่มภารกิจปลาย พ.ค. ส่วน Artemis II จะปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion ที่มี 4 นักบินอวกาศบินผ่านดวงจันทร์แล้วกลับสู่โลก และ Artemis III จะปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion นำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์และระบบลงจอด (ของสเปซเอ็กซ์) จะพานักบินอวกาศลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์

ข้อกำหนดสำหรับยานลงจอดใหม่ จะต้องสามารถจอดเทียบท่ากับสถานีเกตเวย์ที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ เพิ่มความจุรองรับลูกเรือและการขนส่งเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปยังพื้นผิวบนดวงจันทร์ได้มากขึ้น ซึ่งการอนุมัติของรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ จะสร้างการแข่งขันให้มียานลงจอดใหม่ที่ช่วยเสริมแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นให้กับโครงการนี้

ทั้งนี้นาซาจะเริ่มภารกิจระบบลงจอดของสเปซเอ็กซ์ที่ได้เลือกไว้เป็นรายแรกไม่เกิน เม.ย. 2025 (Artemis III) โดยใช้สัญญาเดิม ซึ่งขณะนี้ได้ขอให้สเปซเอ็กซ์ปรับเปลี่ยนระบบลงจอดให้เป็นยานอวกาศตามข้อกำหนดของนาซา การพัฒนาเพิ่มเติมจะอยู่ภายใต้สัญญาเดิมโดยจะเพิ่มการลงทุนและร่วมมือกับสเปซเอ็กซ์อย่างเต็มที่

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านาซาจะออกร่างเอกสารเชิญชวนให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาแข่งขันรับเลือกในการพัฒนาระบบลงจอดบนดวงจันทร์เป็นรายที่สองทำงานคู่ขนานไปกับสเปซเอ็กซ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบริการสำรองในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ให้กับนาซา ซึ่งสัญญาฉบับที่ 2 นี้เรียกว่า “สัญญาการพัฒนาสู่ดวงจันทร์อย่างยั่งยืน”

สรุปง่าย ๆ ว่านาซากำลังประกาศให้บริษัทเทคโนโลยีขนส่งอวกาศเข้ามาคัดเลือกพัฒนาระบบลงจอดบนดวงจันทร์เพิ่มเป็นรายที่ 2 ทำงานขนานกับสเปซเอ็กซ์เพื่อสร้างระบบขนอวกาศสำรองไปยังดวงจันทร์ให้เกิดความยั่งยืน คือหากยานของบริษัทใดมีปัญหาก็ยังมียานของอีกบริษัทหนึ่งนำมาใช้ทดแทนได้

ที่มา : nasa

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส