สัจธรรมที่เราทุกผู้ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คือภาวะสูงวัย ที่อวัยวะแต่ละส่วนก็ค่อย ๆ หย่อนสมรรถภาพไปตามวัย กล้ามเนื้อก็ลีบตัวลง สายตาก็เริ่มสั้นมองอะไรไม่ค่อยชัด ผมก็เริ่มขาว ผิวหนังก็ค่อย ๆ เหี่ยวย่น แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือลักษณะภายนอกที่เรามองเห็นได้ชัด แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เราต่างก็สูญเสียไปตามวัยโดยที่เราไม่รู้ตัวกันมาก่อน นั่นก็คือ “อารมณ์ขัน” ช่วงที่เราเริ่มสูญเสียอารมณ์ขันกันไปนั้น มีศัพท์จำเพาะอยู่ว่า “The Humor Cliff” ถ้ามองเพียงแค่ผิวเผิน มันก็เป็นแค่เรื่องปกตินะ ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต่างก็เผชิญ แต่นักจิตวิทยากลับมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันส่งผลในทางลบ และมีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของเราด้วย

นาโอมิ แบกโดนาส คนซ้าย และ เจนนิเฟอร์ เอเกอร์ คนขวา

เรื่องราวการสูญเสียอารมณ์ขันนี้ ได้รับการวิเคราะห์วิจัยอย่างจริงจังโดย เจนนิเฟอร์ เอเกอร์ (Jennifer Aaker) ศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ นาโอมิ แบกโดนาส (Naomi Bagdonas) โค้ชทางด้านภาวะผู้นำ ทั้งคู่ร่วมกันเปิดสอนคอร์สพิเศษชื่อ Humor: Serious Business ที่ วิทยาลัยธุรกิจสแตนฟอร์ด จุดมุ่งหมายของคอร์สนี้คือการสอนให้ผู้เรียนได้รู้ว่าพวกเขาจะสามารถนำ อารมณ์ขัน และความขี้เล่น ไปเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองและองค์กรได้อย่างไรบ้าง? แล้วทั้งคู่ก็ยังร่วมกันเขียนหนังสือที่พูดถึงการสูญเสียอารมณ์ขันในชีวิต ในชื่อว่า “Humor Seriously”

“พวกเราทุกคนต่างก็ต้องเผชิญกับเรื่องนี้ด้วยกันทั้งนั้น พวกเราต่างก็ตกลงสู่หุบเหวแห่งความเคร่งขึมเบื้องล่าง มันเป็นเรื่องที่ต้องเจอกันทั้งโลก และมันช่างน่าท้อแท้มาก”
เจนนิเฟอร์ เอเกอร์ กล่าวไว้ในหนังสือ

“และคำถามหลักของเรื่องนี้ก็คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร”
นาโอมิ แบกโดนาส กล่าวเสริม

คนเราส่วนใหญ่จะเจอเข้ากับ “The humor cliff” เมื่อวัย 23 ปี จากการสำรวจโดย กลุ่มแกลลัป เมื่อปี 2013 ที่ทำการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1.4 ล้านคน จาก 166 ประเทศ โดยตั้งเป้าไปที่ว่าเมื่อผ่านพ้นวัย 23 แล้ว แต่ละคนจะยิ้มและหัวเราะกันน้อยลงเพียงใด

The humor cliff เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุผลข้อแรกที่เข้าใจกันง่าย ๆ เลยก็คือ ในวัยเด็กนั้น คนเราต่างก็ไม่มีภาระปัญหาใด ๆ ให้ต้องวิตกกังวล โดยเฉลี่ยแล้วเด็กวัย 4 ขวบ จะหัวเราะได้ถึงวันละ 300 ครั้ง แต่ในวัย 40 ปีขึ้นไป จะต้องใช้เวลา 2 เดือนครึ่ง ถึงจะหัวเราะสะสมได้ถึง 300 ครั้ง สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้เสียงหัวเราะหายไปจากชีวิตเราก็คือเรื่อง ‘งาน’ นั่นแหละ

“คนเราต่างเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ในวัยแรงงาน โดยที่จู่ ๆ เราก็กลายเป็นคนซีเรียสจริงจังกับชีวิตโดยไม่รู้ตัว เสียงหัวเราะในชีวิตหายไปแต่มีชุดทำงานเข้ามาแทน ไม่นานจากนั้น ความสนุกสนานในชีวิตก็จมลงสู่ก้นทะเล เผชิญกิจวัตรน่าเบื่อในแต่ละวัน นั่งโต๊ะทำงาน เจอกับการประชุมซ้ำแล้วซ้ำอีกที่สูบสภาพจิตไป”

ในการค้นคว้านี้ เอเกอร์และแบกโดนาสได้สัมภาษณ์พนักงานจำนวนกว่า 700 คน จากหลาย ๆ องค์กร แล้วทั้งคู่ก็พบว่า เมื่อคนเราเข้าสู่วัยทำงานต่างก็รักษาภาพลักษณ์ในความเป็นมืออาชีพ ก็เลยทำให้หลาย ๆ คนในวัยทำงานไม่กล้าที่จะแสดงอาการตลกขบขันในที่ทำงาน พอ ๆ กับการปิดบังตัวตนที่แท้จริงไปด้วย

อารมณ์ขันในที่ทำงาน ช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น

ในเรื่องการแอบซ่อนอารมณ์ขันในที่ทำงานนั้น เอเกอร์และแบกโดนาส ขยายเหตุผลไว้ 4 ข้อดังนี้

1.เป็นความเชื่อในวงกว้างว่า ‘ท่ามกลางงานที่ซีเรียสจริงจังไม่ใช่ที่ที่จะมีอารมณ์ขัน’
ตรงจุดนี้ แบกโดนาสขอแย้งว่า “มันไม่ใช่อย่างนั้น ที่จริงแล้วอารมณ์ขันคือกลไกหนึ่งในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก นั่นก็เพราะมันมีความเป็นจริง มีความเป็นปุถุชน ที่จริงแล้วมันไม่ได้ตรงข้ามกับคำว่าซีเรียสจริงจังซะหน่อย มันสามารถลดความตึงเครียดในการทำงานได้ แล้วเอื้อต่อการทำงานร่วมกันได้ด้วย”

สถาบัน Robert Half International and Hodge-Cronin & Associates ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารนับร้อยคนมาแล้วพบว่า 98% ของพวกเขาชอบพนักงานที่มีอารมณ์ขัน และ 84% เชื่อว่าพนักงานที่อารมณ์ดีจะทำงานได้ดีขึ้นด้วย

2.เหตุผลข้อนี้น่ารักดีครับ หลาย ๆ คนไม่กล้าปล่อยมุกในที่ทำงานเพราะมีความกังวลฝังอยู่ในใจลึก ๆ ว่า ‘กลัวแป้ก’ แต่นักจิตวิทยาบอกว่า ไม่สำคัญว่าเราจะยิงมุกไปแล้วได้เสียงหัวเราะ หรือว่าแป้กจนกริบ แต่สำคัญอยู่ที่การ ‘กล้าเล่นมุก’ นั้นแสดงถึงความเชื่อมั่้นในตัวเอง ขอแค่เพียงเล่นมุกให้ถูกกาลเทศะก็เป็นพอ

3.เหตุผลข้อถัดมา เอเกอร์บอกไว้ว่า “มันเป็นความเข้าใจผิดที่ว่าการเล่นมุกบ่อย ๆ จะทำให้คุณดูเป็นตัวตลก”
“มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็น วิลล์ เฟอร์เรล ในห้องประชุมซะเมื่อไหร่ แต่มันสำคัญที่ว่าคุณได้สร้างบรรยากาศให้ทุกคนรู้สึกดีไปกับการได้มีอารมณ์ขันร่วมกัน มันจะทำให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงอารมณ์ขันในที่ทำงาน”
เวย์น เด็กเกอร์ (Wayne Decker) นักวิจัยผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องนี้กล่าวสรุปไว้ว่า ผู้บริหารที่กล้าจะแสดงอารมณ์ขันบ่อย ๆ โดยที่ไม่กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นตัวตลก แล้วขาดความเคารพน่าเชื่อถือ ผู้บริหารที่มีบุคลิกแบบนี้กลับได้รับคะแนนที่ดีจากการสำรวจ พนักงาน 23% มองว่า พวกเขาดูน่าเคารพมากขึ้นด้วยซ้ำ อีก 25% มองว่าทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น น่าทำงาน และ 17% บอกว่า ผู้บริหารแบบนี้ดูเป็นมิตร

4.เลิกคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นบุคลิกเฉพาะตน เป็นนิสัยที่ติดตัวคนคนนั้นมาตั้งแต่เกิด
“พวกเราทุกคนต่างมีอารมณ์ขันเฉพาะตัว ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้เอง” แบกโดนาสกล่าว

“ถ้าคุณเป็นคนไม่มีอารมณ์ขัน ลองพยายามสร้างมันขึ้นมา การได้หัวเราะนั้นดีต่อสุขภาพจิตเรา มันเป็นการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความสุข เหมือนกับการได้ออกกำลังกาย เหมือนกับการมีเซ็กส์และนั่งสมาธิไปพร้อมกัน อย่างน้อยก็ดีต่อสมองของเราเอง” เอเกอร์กล่าว

ที่มา