ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย พบเจอกันในการประชุมสุดยอดระหว่างสองผู้นำชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้พบกันนับตั้งแต่ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีแอนโธนี่ บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และเซอร์จี้ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย เข้าร่วมในการประชุมที่เจนีวาด้วย

ผู้นำทั้งคู่กล่าวว่าพวกเขาหวังว่าการเจรจาของพวกเขาจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงขึ้นและคาดเดาได้ แม้ว่าพวกเขาจะขัดแย้งกันในทุกเรื่อง ตั้งแต่การควบคุมอาวุธและการแฮกทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และการที่รัสเซียไปรุกรานยูเครน

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในช่วงนี้ นับว่าเป็นยุคที่ความสัมพันธ์ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต (กล่าวโดยปูตินเอง) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็มีเพื่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัสเซียยอมรับว่ามันเป็นการเจรจาที่ค่อนข้างยากและอาจไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

เมื่อพบเจอกัน โจ ไบเดน ผู้เสนอให้จัดการประชุมครั้งนี้ได้ยื่นมือออกไปเพื่อทักทายกับปูตินก่อน จากนั้นทั้งคู่จึงเข้าไปหารือกันภายในห้องประชุม พวกเขากล่าวทักทายต่อหน้าสื่อกันสั้น ๆ ก่อนที่จะขอให้นักข่าวออกไปจากห้องประชุม เพื่อร่วมหารือกันแบบส่วนตัว

โดยรอยเตอร์อ้างถึงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ไว้ว่าปูตินได้กล่าวขอบคุณไบเดนที่ทำให้เกิดการประชุมในครั้งนี้ โดยหวังว่าการพูดคุยกันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนไบเดนก็กล่าวพร้อมยิ้มอย่างจริงใจว่า “การได้เจอกันตัวต่อตัวย่อมดีกว่าเสมอ”

การประชุมเป็นไปอย่างสงบ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบแรกมีผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ไบเดน ปูติน บลิงเคนและลาฟรอฟ โดยรอบแรกใช้เวลาพูดคุยประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะพักเบรกและเริ่มคุยกันใหม่เวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (21.00 น.ของไทย) ซึ่งการพูดคุยครั้งที่ 2 จะมีทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย โดยการประชุมจบลงที่เวลา 17.05 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.05 น.ของไทย) ซึ่งนับว่าพูดคุยกันเร็วกว่าที่กำหนดไว้

สรุปว่าการประชุมเป็นไปได้ด้วยดี โดยทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียตกลงกันแล้วว่าจะส่งทูตกลับไปพำนักที่เประเทศของอีกฝ่าย หลังจากที่ต่างคนต่างเรียกทูตกลับประเทศในเดือนเมษายน ตอนที่ไบเดน กล่าวหาว่าปูตินเป็น “ฆาตกร” จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ในที่ประชุมไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่จะมีการพูดถึงนอกรอบอีกหลากหลายประเด็น ทางด้านปูตินได้ให้สัมภาษณ์เดี่ยวกับสื่อมวลชน ถึงกรณีของอเล็กซี่ นาวัลนี (Alexei Navalny) เอาไว้ว่า นาวัลนี เองรู้ว่าเขากำลังละเมิดกฎหมายของรัสเซีย และจะถูกควบคุมตัวเมื่อเขาเดินทางกลับรัสเซีย แต่เขาก็ตัดสินใจมาอยู่ดี ส่วนเรื่องนาวัลนีถูกวางยาพิษนั้น ปูตินปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมบอกว่าเป็นเรื่องภายในประเทศและสหรัฐฯ ควรหลีกเลี่ยงเรื่องนี้

ส่วนเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ ที่สหรัฐฯ กล่าวอ้างว่ารัสเซียเป็นคนทำ ปูตินให้ความเห็นไว้ว่ารัสเซียไม่ได้เป็นคนทำ แต่กลับกัน การโจมตีทางไซเบอร์ในรัสเซียส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน รองลงมาก็มาจากแคนาดา

ปูติน กล่าวว่าหลังการประชุมกับไบเดน เขามองเห็น “ความหวัง” ครั้งใหม่ที่ทั้งสองประเทศจะเริ่มไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น แต่เสริมว่าความเคลื่อนไหวของวอชิงตันในการยุติสนธิสัญญาด้านอาวุธยังคงแสดงให้เห็นถึงความคาดเดาไม่ได้อยู่ดี นอกจากนี้ ปูตินยังอธิบายว่าไบเดนเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีและมีประสบการณ์ พร้อมกล่าวว่าผู้นำทั้งสองพูด “ภาษาเดียวกัน” โดยอธิบายว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นไปในทางที่ดีและเกิดผล ทว่า เป็นการยากที่จะบอกว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะดีขึ้นหรือไม่

ทางด้าน โจ ไบเดน ได้ให้สัมภาษณ์เดี่ยวกับสื่อมวลชนเช่นกัน โดยอธิบายว่าการพบกับปูตินของรัสเซียนั้นเป็นไปในทางที่ดี แต่เห็นได้ชัดว่าเราเหมือนยืนอยู่ในสงครามเย็นครั้งใหม่ของทั้งสองประเทศ แม้ว่าการพูดคุยกันจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็ไม่มีมิตรภาพใดๆ เกิดขึ้น เพราะเป็นการสนทนาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศเท่านั้น

ไบเดนยังกล่าวว่า เขาใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์กับประธานาธิบดีรัสเซีย ในการประชุมสุดยอดของพวกเขา ซึ่งไบเดนถามกดดันกลับไปทางปูตินด้วยว่า “คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีแฮกเกอร์ใช้แรนซัมแวร์แฮกท่อส่งน้ำมันจากแหล่งน้ำมันหลักของคุณ”

ไบเดนยังมีการพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนไว้ด้วยว่า “ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะถูกพูดถึงอยู่เสมอ” “ผมจะเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร ถ้าไม่พูดเรื่องต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ไบเดนกล่าวว่าเขาได้บอกปูตินอีกว่า “เราต้องการกฎพื้นฐานบางอย่างที่เราทุกคนควรปฏิบัติตามได้ ผมมาเพื่อทำสิ่งที่ต้องทำ” พร้อมกล่าวว่ามันจะเกิดผลร้ายแรงอย่างมากต่อรัสเซีย หากวันนั้นนาวัลนีผู้นำฝ่ายค้านเสียชีวิต

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส