ในที่สุดภาพยนตร์เรื่อง “Thor: Love and Thunder” ที่หลาย ๆ คนรอคอยก็ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว แถมได้ ‘ไทกา ไวทิทิ’ (Taika Waititi) ผู้กำกับชาวนิวซีแลนด์ที่เคยกุมบังเหียน ‘Thor Ragnarok’  หนังภาคที่ 3 ของธอร์มาทำหน้าที่กำกับต่อในภาคนี้ ซึ่งหนังธอร์ภาคนี้ก็มาด้วยลีลาที่ร็อกเร้าใจน่าดูตั้งแต่โลโก้ที่ดูเหมือนกับโลโก้วงฮาร์ดร็อกหรือเมทัลเท่ ๆ  ตัวอย่างหนังที่ใช้เพลง “Sweet Child O’Mine” เป็นเพลงประกอบ รวมไปถึงมู้ดและโทนของหนังที่ดูมีสีสันได้ใจจริง ๆ  ซึ่งไวทิทิก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าหนังธอร์ภาคนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมดนตรีร็อกในยุค 80s ไปเต็ม ๆ และโลโก้ชื่อหนัง “Thor: Love and Thunder”  ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากโลโก้วงฮาร์ดร็อกและเมทัลในยุค 80s อย่าง Metallica และ Van Halen ต้องนับว่ายุค 80s เป็นยุคที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ของตัวเองจริง ๆ อีกทั้งงานดนตรีในยุคนี้ยังมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ดังเช่นแนวดนตรีร็อก ฮาร์ดร็อก เมทัลที่มีการแจ้งเกิดวงดนตรีระดับตำนานหลายวงรวมไปถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบางศิลปินที่ได้นำเอาเทคโนโลยีและอะไรใหม่ ๆ ในยุคนี้มาผสมผสานกับงานดนตรีของตัวเอง

เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องการรับชม “Thor: Love and Thunder” อย่างเต็มที่ ก็ต้องซึมซับบรรยากาศและกลิ่นอายความเป็นร็อกของยุค 80s กันเสียหน่อย วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 10 อัลบั้มอันยอดเยี่ยมของชาวร็อกจากยุค 80s มาให้ฟังกัน ไปเริ่มกันเลย !!

Van Halen – ‘1984’

สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 และเป็นชุดสุดท้ายของ เอ็ดดี แวน ฮาเลน (Eddie Van Halen) ที่ร่วมงานกับ เดวิด ลี รอธ (David Lee Roth) นักร้องนำของวงซึ่งออกจากวงในปี 1985 จากการมีความเห็นที่แตกต่างในแนวทางการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้ ‘1984’ เป็นอัลบั้มเต็มชุดสุดท้ายที่มีสมาชิกดั้งเดิมอยู่ครบทั้ง 4 คน ได้แก่พี่น้องแวน ฮาเลน, รอธ และ ไมเคิล แอนโธนี (Michael Anthony)  แต่ต่อมาพวกเขาได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ เพื่อเริ่มทำงานเพลงร่วมกันจนกลายเป็นอัลบั้ม ‘A Different Kind of Truth’ ในปี 2012 (รอธกลับมาในปี 2007 ส่วน ว็อล์ฟกังลูกชายของเอ็ดดีเข้ามาแทนที่ตำแหน่งของแอนโธนีในปี 2006) ‘1984’ เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่มียอดขายสูงที่สุดของแวน ฮาเลนเคียงคู่กับอัลบั้ม ‘Van Halen’ (1978) โดยทั้งสองอัลบั้มมียอดขายมากกว่า 10 ล้านก็อปปี้

หลังจากการทัวร์เพื่อโปรโมตอัลบั้มชุดที่ 4 ‘Fair Warning’ ตอนแรกวงต้องการชะลอตัวลงและหยุดพัก พวกเขาเลยปล่อยออกมาแค่หนึ่งเพลงคือ “(Oh) Pretty Woman” ซึ่งตั้งใจให้เป็นซิงเกิล อย่างไรก็ตามด้วยความสำเร็จของเพลงนี้จึงทำให้ทางค่ายเพลงขอให้วงทำอัลบั้มออกมา ทางวงก็เลยบันทึกเสียงสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ‘Diver Down’ อย่างรวดเร็ว หลังจากเสร็จสิ้นอัลบั้มชุดนี้เอ็ดดี แวน ฮาเลนก็มีเรื่องเคืองใจกันกับเดวิด ลี รอธและเท็ด เทมเพิลแมน (Ted Templeman) โปรดิวเซอร์ของวง จากการที่ทั้งคู่ไม่ยอมสนับสนุนไอเดียของเอ็ดดีที่จะใช้คีย์บอร์ดเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในวง

ในปี 1983 เอ็ดดีได้ดำเนินการสร้างสตูดิโอของตัวเอง โดยตั้งชื่อว่า ‘5150’ ตามประมวลกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช (ซึ่งแสดงอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นเนื่องจากอาการป่วยทางจิต) ร่วมกับดอนน์ แลนดี (Donn Landee) ซาวด์เอ็นจิเนียร์ประจำวงที่ร่วมงานกันมานาน ขณะที่กำลังติดตั้งบอร์ดและเครื่องเทป เอ็ดดีเริ่มลองเล่นซินธิไซเซอร์เพื่อฆ่าเวลา โดยปรับไปปรับมาจนกว่าจะรู้สึกว่าได้เสียงที่ใช่ และเอ็ดดีก็เอาไอเดียที่ได้มาใช้ในอัลบั้ม ‘1984’ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประนีประนอมระหว่างสองแนวทางในการสร้างสรรค์ดนตรี เป็นการผสมผสานของเพลงที่เน้นคีย์บอร์ด/ซินธิไซเซอร์ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ให้เข้ากับดนตรีฮาร์ดร็อกที่เข้มข้นในแบบฉบับดั้งเดิมของวง อัลบั้มชุดนี้ใช้เวลาทำเกือบหนึ่งปีแตกต่างจากอัลบั้มก่อน ๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะในชุดแรกนั้นใช้เวลาบันทึกเสียงเพียงแค่ 5 วันเท่านั้นเอง

อัลบั้ม ‘1984’ ได้รับการยกย่องจากนิตยสารโรลลิงสโตนในปี 1984 ให้เป็นหนึ่งใน ‘100 อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งยุค 80s’ ซึ่งเทมเพิลแมนก็ได้ยอมรับในไอเดียและแนวทางที่สดใหม่ของแวน ฮาเลนและกล่าวถึงเหตุผลที่อัลบั้มนี้ได้รับความนิยมไว้ว่า “มันชัดเจนสำหรับผมจริง ๆ เพราะ เอ็ดดี แวน ฮาเลน ได้ค้นพบการใช้ซินธิไซเซอร์ยังไงล่ะ”

Def Leppard – ‘Hysteria’

อัลบั้มชุดที่ขายดีที่สุดของ Def Leppard ขายได้กว่า 20 ล้านชุดทั่วโลก รวมถึง 12 ล้านชุดในสหรัฐอเมริกา และมีซิงเกิลฮิตถึง 7 เพลง !

‘Hysteria’ โปรดิวซ์โดย โรเบิร์ต จอห์น ‘มุตต์’ แลงจ์ (Robert John “Mutt” Lange) ชื่อของอัลบั้มนี้มาจากไอเดียของมือกลอง ริก อัลเลน (Rick Allen) ที่อ้างอิงถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ของเขาในปี 1984 อัลบั้มนี้ยังเป็นสุดท้ายที่มีมือกีตาร์ สตีฟ คลาร์ก (Steve Clark) ร่วมวงอยู่ด้วยก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แต่เพลงที่ร่วมเขียนโดยคลาร์กจะยังปรากฏในอัลบั้มถัดไปของวงที่ชื่อว่า ‘Adrenalize’ อัลบั้มชุดนี้มีความยาว 62 นาที 32 วินาที ซึ่งถือว่าเป็นอัลบั้มที่มีความยาวที่สุดของวง

แลงจ์ตั้งใจให้อัลบั้มชุดนี้เป็นเวอร์ชันฮาร์ดร็อกของอัลบั้ม ‘Thiller’ ของไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ซึ่งมันก็ว้าวแบบนั้นจริง ๆ เพราะเกือบทุกแทร็กล้วนแต่เป็นซิงเกิลฮิตที่มีศักยภาพทั้งสิ้น ดังนั้นเพลงทั้งหมดในอัลบั้มจึงถูกเขียนขึ้นโดยคำนึงถึงแนวคิดนี้ ทำให้แฟนเพลงเฮฟวีเมทัลอาจผิดหวังหลังจากที่อัลบั้มก่อน ‘Pyromania’ ทางวงก็ปรับให้ป๊อปขึ้นมาหน่อยและคราวนี้เหมือนจะเดินหน้ามาทางแนวที่ฟังง่ายมากขึ้นอีก เช่นในเพลง “Love Bites” ที่มาในอารมณ์บัลลาดที่ถึงแม้ขาโหดอาจจะไม่ชอบแต่แฟนเพลงส่วนใหญ่ก็ยกนิ้วให้ด้วยความปลาบปลื้ม

ในขณะที่ ‘Pyromania’ มีร่องรอยของสุ้มเสียงแบบเฮฟวีเมทัลดั้งเดิมของ Def Leppard อย่างที่พบใน 2 อัลบั้มแรกของพวกเขา แต่ใน ‘Hysteria’ วงก็ได้เดินหน้าสู่แนวทางใหม่แบบไม่เสียดายอดีตและกล้าที่จะใส่ความชื่นชอบในสุ้มเสียงและเทคโนโลยีทางดนตรีล่าสุดที่มีอยู่ในขณะนั้น (พบตัวอย่างชัด ๆ ได้ในเพลง “Rocket”, “Love Bites”, “Excitable”, และ ” Gods of War”) ส่วนการบันทึกเสียงทางวงก็ใช้วิธีแบบที่เริ่มทำตั้งแต่ในอัลบั้ม Pyromania นั่นคือทุกเพลงจะถูกบันทึกโดยสมาชิกทุกคนในสตูดิโอแบบแยกกันเล่น แทนที่จะบันทึกเสียงทั้งวงไปพร้อมกัน และโดดเด่นด้วยเสียงประสานที่กลมกล่อมซึ่งแลงจ์ได้ใช้เทคนิคของเขาในการจัดวางให้ลงตัวรวมไปถึงการปรับระดับเสียงและจัดวางเสียงร้องที่เป็นแบ็กกราวด์ในเพลงทุกแทร็ก ส่วนไลน์กีตาร์ก็เน้นไปที่ท่วงทำนองที่ไพเราะฟังแล้วรื่นหู มากกว่าการเล่นริฟฟ์แบบฮาร์ดร็อกทั่วไป

U2 – ‘War’

‘War’ ถือเป็นอัลบั้มที่มีความเป็นการเมืองอัลบั้มแรกของ ‘U2’ ที่มีเพลงอย่าง “Sunday Bloody Sunday” และ “New Year’s Day” และทำให้ภาพลักษณ์ของวงกลายเป็นวงที่มีบทเพลงสื่อสารทางการเมืองที่มีความชัดเจนตั้งแต่นั้นมา

U2 บันทึกเสียงอัลบั้มนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 1982 ที่ Windmill Lane Studios โปรดิวซ์โดย สตีฟ ลิลลีไวต์ (Steve Lillywhite) โปรดิวเซอร์ที่ทำงานร่วมกับวงมาตั้งแต่สองอัลบั้มแรก ในขณะที่ธีมหลักของสองอัลบั้มก่อนหน้าของ U2 ‘Boy’ และ ‘October’ จะเป็นเรื่องของวัยรุ่นและจิตวิญญาณ อัลบั้มชุดที่ 3 นี้ได้มุ่งไปพูดเรื่องสงครามทั้งสงครามทางกายภาพและผลของสงครามที่กระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ส่วนในทางดนตรี งานเพลงชุดนี้มีความหนักแน่นและรุนแรงกว่าชุดก่อน ๆ ทำให้อัลบั้มนี้ได้รับการนิยามว่าเป็นอัลบั้มที่วง “เปลี่ยนความสงบให้กลายเป็นสงครามครูเสด”

ในด้านยอดขายนับว่าวงประสบความสำเร็จมากจากการที่สามารถเอาชนะอัลบั้ม ‘Thriller’ ของ ไมเคิล แจ็กสัน ในสหราชอาณาจักรจนกลายเป็นอัลบั้มอันดับ 1 ของวง

“Sunday Bloody Sunday” แทร็กเปิดอัลบั้มได้บรรยายถึงความรู้สึกสะเทือนขวัญของผู้ที่พบเห็นความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติในไอร์แลนด์เหนือที่เรียกว่า ‘The Troubles’ ซึ่งมาพร้อมเสียงกลองที่น่าตื่นใจในสไตล์ทหาร อินโทรกีตาร์เท่ ๆ ริทึ่มกระชับฉึบฉับ และเนื้อร้องอันเฉียบคม “And today the millions cry / We eat and drink while tomorrow they die.” “Sunday Bloody Sunday” ถือเป็นหนึ่งในเพลงประท้วงทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และยังคงเป็นเพลงหลักในคอนเสิร์ตของวง U2 มาโดยตลอด

ZZ Top – ‘Eliminator’

‘Eliminator’ เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากที่สุดของ ZZ Top ด้วยยอดขายกว่า 20 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก อัลบั้มนี้ถูกบันทึกในปี 1982 เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาแนวทางให้ทันสมัยโดย บิลลี กิบบอนส์ (Billy Gibbons) ได้ปรับสไตล์ดนตรีแบบบูกี้และบลูส์ร็อกของวงให้เข้ากับรสชาติใหม่ ๆ ของดนตรีนิวเวฟและซินธ์ร็อกที่กำลังเป็นที่นิยมในยุค 80s โดยยังคงเน้นกีตาร์ไฟฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของ ZZ Top ไว้อยู่ แต่เพิ่มการใช้ซินธิไซเซอร์และดรัมแมชชีนมากขึ้น ทำให้เกิดอัลบั้มที่ “แน่น” และ “สดใหม่” ขึ้น

อัลบั้มชุดนี้มีการทำมิวสิกวิดีโอชุดเพื่อโปรโมตอัลบั้มซึ่งประสบความสำเร็จมากเลยทีเดียว โดยชุดวิดีโอนี้ถูกทำออกมาในธีมเดียวกันประกอบไปด้วยเพลง  “Gimme All Your Lovin'”, “Sharp Dressed Man” และ “Legs” และได้รับการเปิดเป็นประจำใน MTV ซึ่งช่วยให้วงได้รับความนิยมจากแฟนเพลงรุ่นใหม่ ๆ ด้วย ส่วนคนรักรถก็จะถูกใจที่เห็นรถฟอร์ดคูเป้รุ่นปี 1933 ซึ่งนอกจากจะปรากฏตัวบนปกอัลบั้มแล้วยังมาอยู่ในมิวสิกวิดีโออีกด้วย มิวสิกวิดีโอเพลง “Legs” ทำให้วงได้รับรางวัล MTV Video Music Award สาขา Best Group ส่วนอัลบั้มชุดนี้ก็ติดอันดับ 398 ใน ‘500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล’ ของนิตยสารโรลลิงสโตน

Metallica – ‘Kill ‘Em All’

Metallica วงเมทัลรุ่นป๋าแห่งวงการดนตรีเปิดตัวด้วยอัลบั้ม ‘Kill ‘Em All’ ในปี 1983 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลบั้มที่ก้าวล้ำแนวเพลงแทรชเมทัลโดยทั่วไป ซึ่งผสมผสานแนวทางใหม่ ๆ ของเฮฟวีเมทัลเข้ากับจังหวะพังก์แบบฮาร์ดคอร์ ทั้งแนวทางดนตรีและเนื้อร้องของอัลบั้มนี้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากกระแสหลักของเพลงร็อกในช่วงต้นทศวรรษ 80s และเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีหลายวงเดินตามวง Metallica

เดฟ มัสเทน (Dave Mustaine) แห่งวง Megadeth เคยเป็นสมาชิกรุ่นแรกของวง Metallica มาก่อนและร่วมเขียนเพลงหลายเพลงในอัลบั้ม Kill ‘Em All แต่ด้วยปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากจนเกินงามและการปะทะกับเพื่อนร่วมวงทำให้เขาถูกไล่ออกจากวงก่อนที่จะทำการบันทึกเสียงอัลบั้ม จากนั้น Metallica จึงได้ชักชวนเคิร์ก แฮมเมตต์ (Kirk Hammett) มือกีตาร์จากวง Exodus และลูกศิษย์ของกีตาร์ฮีโร โจ แซททริอานี (Joe Satriani) มาเล่นในวง โดยแฮมเมตต์ใช้เวลาระหว่างเที่ยวบินไปนิวยอร์กในการเรียนรู้เพลงต่าง ๆ ของวง และเริ่มบันทึกเสียงให้กับ Metallica ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา

“Jump in the Fire” เป็นเพลงแรกที่เขียนโดยมัสเทน โดยมีเนื้อร้องเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศของวัยรุ่นต่อมาเนื้อเพลงถูกแก้ไขโดย เจมส์ เฮตฟิลด์ (James Hetfield) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของซาตาน โดยอธิบายว่าพวกมารนั้นมองดูผู้คนฆ่ากันอย่างไร และมั่นใจว่าคนชั่วเหล่านี้จะตกนรกสำหรับการกระทำของพวกเขา

ส่วน “Whiplash” เป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้ม มาพร้อมจังหวะที่รวดเร็วของโน้ตเขบ็ตสองชั้น ที่เล่นด้วยความเร็วประมาณ 200 ครั้งต่อนาที เฮตฟิลด์และคลิฟฟ์ เบอร์ตัน (Cliff Burton) เล่นโดยใช้เทคนิคอุดเสียงด้วยฝ่ามือและมีการควบคุมจังหวะที่แม่นยำ เนื้อเพลงเป็นการเฉลิมฉลองพลังของฝูงชนและเหล่าชาวเมทัลเลือดเดือด และนักวิจารณ์ดนตรีต่างยกย่องว่า “Whiplash” เป็นเพลงที่บ่งบอกถึงการกำเนิดของแทรชเมทัลอย่างแท้จริง

The Rolling Stones – ‘Tattoo You’

Tattoo You เป็นอัลบั้มที่ประกอบด้วยเพลงที่ไม่ได้ใช้จากการบันทึกเสียงครั้งก่อน ซึ่งบางเพลงย้อนหลังไปนานถึง 10 ปี แล้วนำมาอัดร้องและเติมเสียงใหม่เพิ่มเข้าไป The Rolling Stones แต่งเพลงใหม่ขึ้นมาอีก 2 เพลงพร้อมทั้งเอาบทเพลงที่รวบรวมมาใส่เป็นอัลบั้มใหม่ชุดนี้เพื่อที่จะโปรโมตทัวร์ในอเมริกาในปี 1981 และในยุโรปในปี 1982

“สิ่งที่มีใน Tattoo You ไม่ได้หมายความว่าเราเลิกเขียนเพลงใหม่ ๆ แล้ว แต่มันเป็นคำถามถึงเวลาที่เหมาะสม เราตกลงกันว่าเราจะออกเดินทางและเราอยากจะออกทัวร์ เราเลยไม่มีเวลาที่จะทำทั้งอัลบั้มในขณะที่กำลังจะออกทัวร์ด้วย”

หลายเพลงในอัลบั้มเริ่มจากการที่เป็นแบ็กกิ้งแทร็กที่มีแต่เสียงดนตรีและยังไม่ได้มีการอัดเสียงร้อง “มันไม่ได้เป็นเพลงที่อัดแล้วแต่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด บางเพลงเป็นเพลงเก่าที่ผมเขียนเนื้อร้องและเมโลดี้เอาไว้ ส่วนใหญ่แล้วมันยังไม่ได้มีอะไรนัก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงยังไม่ถูกนำมาใช้ในตอนนั้น เพราะว่ามันยังไม่สมบูรณ์นั่นแหละ มันยังเป็นชิ้นเป็นส่วน หรือบางทีก็เป็นแค่เทคแรก ๆ เท่านั้น” มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger) ฟรอนท์แมนของวงกล่าว แม้จะมีลักษณะของการเป็นอัลบั้มที่ผสมผสานกัน แต่ Tattoo You ก็สามารถแบ่งออกออกได้เป็นสองแบบกว้างๆ  คือเพลงแนวร็อกแอนด์โรลและเพลงสไตล์บัลลาด

อัลบั้มเปิดตัวด้วยเพลง “Start Me Up” ซึ่งกลายเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของวง ซึ่งขึ้นอันดับ 2 ในชาร์ตซิงเกิลของ Billboard ในสหรัฐอเมริกา แต่เดิมถูกเผยแพร่ออกมาในชื่อ “Never Stop” เป็นเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีเร็กเก้และมาจากการบันทึกเสียงในช่วงทำอัลบั้ม Some Girls ในปี 1978 และต่อมาได้มีการบันทึกเสียงอีกครั้งในปารีสที่สตูดิโอ Pathé Marconi ซึ่งมีการผสมผสานดนตรีร็อกให้มากขึ้น

Guns N’ Roses – ‘Appetite for Destruction’

ตอนที่ Guns N’ Roses เปิดตัวด้วยอัลบั้ม ‘Appetite for Destruction’  ในปี 1987 พวกเขายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักเพราะงานของพวกเขาดูเหมือนจะไม่ ‘แมส’ สำหรับช่วงเวลานั้นสักเท่าไหร่ สถานีวิทยุไม่ยอมเปิดซิงเกิล “Welcome to the Jungle” ของวง ส่วน MTV ก็ไม่ต้องการออกอากาศมิวสิกวิดีโอของพวกเขาด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามหลังจากใช้เวลาหลายเดือนในการล็อบบี้ ผู้จัดการทั่วไปของค่าย Geffen อัล กูรี (Al Coury) ก็โน้มน้าวให้ MTV เล่นมิวสิกวิดีโอเพลงนี้เพียงคืนละครั้งเป็นเวลาสามคืน ในที่สุด “Welcome to the Jungle” ก็กลายเป็นวิดีโอที่มีการร้องขอมากที่สุดในเครือข่ายของ MTV จากนั้นสถานีวิทยุก็ขอให้คูรีส่งแผ่นโปรโมตของซิงเกิล “Welcome to the Jungle”, “Paradise City” และ “Sweet Child o’ Mine” ให้พวกเขา หลังจากที่ซิงเกิลเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่และวงได้ออกทัวร์  Guns n’ Roses ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและอัลบั้มก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าด้วยยอดขายมากกว่า 30 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกและกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาล

สิ่งที่ทำให้  ‘Appetite for Destruction’  ของ Guns N’ Roses นั้นประสบความสำเร็จมาจากการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับแนวทางร็อกทั่ว ๆ ไป และทำให้อัลบั้มชุดนี้กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนของฮาร์ดร็อก’ ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานความหนักแน่นของเมทัล ความหัวขบถแบบพังก์ร็อก ความเก๋แบบแกลมเมทัล และริฟฟ์กีตาร์กลิ่นบลูส์ รวมไปถึงสไตล์การเล่นกีตาร์คู่ประสานของ สแลช (Slash) และ อิซซี่ สตราดลิน (Izzy Stradlin) หรือการร้องเพลงและการแต่งเพลงของ แอ็กเซิล โรส (Axl Rose) ล้วนแล้วแต่ทำให้ Appetite for Destruction เป็น “อัลบั้มเพลงเมทัลที่ดีที่สุดในช่วงปลายยุค 80s” อันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความกร้าวและวุ่นวายในสไตล์ 70s และความป๊อปของยุค 80s

AC/DC – ‘Back in Black’

‘Back in Black’ เป็นอัลบั้มแรกของวงที่มีนักร้องนำเป็น ไบรอัน จอห์นสัน (Brian Johnson) หลังจากการจากไปของนักร้องนำคนก่อน บอน สก็อตต์ (Bon Scott) ซึ่งเสียชีวิตจากพิษแอลกอฮอล์หลังจากดื่มสุรามาอย่างหนัก แทนที่จะยุบวงพวกเขาตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อและคัดเลือกจอห์นสันให้เป็นนักร้องนำคนต่อมา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นนักร้องของวง Geordie ปกอัลบั้มสีดำล้วนของ ‘Back in Black’ ถูกออกแบบให้เป็น “สัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์” สำหรับสก็อตต์

‘Back in Black’ ทำให้ AC/DC ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยยอดขายกว่า 50 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกและเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ดนตรี (รองจากอัลบั้ม ‘Thriller’ ของไมเคิล แจ็กสัน)

‘Back in Black’ เป็นอัลบั้มฮาร์ดร็อกและเฮฟวีเมทัลที่ทรงอิทธิพล นับว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ Back in Black ถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลาที่เฮฟวีเมทัลยืนอยู่ตรงจุดหักเหระหว่างการตกต่ำและการฟื้นตัว เนื่องจากวงดนตรีส่วนใหญ่ในแนวนี้จะเล่นจังหวะที่ช้ากว่าและโซโลกีตาร์ที่ยาว ในขณะที่ AC/ DC และ Van Halen นำพลังอันพลุ่งพล่านของพังก์ร็อกมาใช้และปรับให้เพลงของพวกเขามีความป๊อปที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้โปรดิวเซอร์ ‘โรเบิร์ต จอห์น ‘มุตต์’ แลงจ์’ (Robert John “Mutt” Lange) ในการดึง AC/DC ออกห่างจากเพลงแนวบลูส์ร็อกในอัลบั้มก่อน ๆ ของพวกเขา และมุ่งไปสู่การโจมตีด้วยเสียงดนตรีที่มีไดนามิกอันเข้มข้นและมีความผสมกลมกลืนกันในแต่ละองค์ประกอบของดนตรีทำให้งานเพลงในอัลบั้ม ‘Back in Black’ มีส่วนผสมของความเป็นฮาร์ดร็อก เฮฟวีเมทัล พังก์และป๊อปที่ผสมผสานกลมกลืนกันอย่างลงตัว

Iron Maiden – ‘The Number of the Beast’

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกของ ‘Iron Maiden’ ที่มีนักร้องนำเป็น บรูซ ดิกคินสัน (Bruce Dickinson) และเป็นอัลบั้มสุดท้ายที่ร่วมงานกับมือกลอง ไคลฟ์ เบอร์ (Clive Burr) ‘The Number of the Beast’ ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และกลายเป็นอัลบั้มแรกของวงที่ขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ของ UK Albums Chart และขึ้นไปถึง 40 อันดับแรกของชาร์ต Billboard 200 ของสหรัฐอเมริกา อัลบั้มนี้มีซิงเกิลเด่น ๆ อย่าง “Run to the Hills” และ “The” Number of the Beast” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นซิงเกิลอันดับ 1 ใน 10 ในสหราชอาณาจักร แต่อัลบั้มนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีการอ้างอิงประเด็นทางศาสนาทั้งในปกอัลบั้มและในเนื้อเพลงของเพลงไตเติลแทร็ก “The Number of the Beast” และด้วยความโด่งดังของอัลบั้มนี้ทำให้คำว่า “The Beast” ได้กลายเป็นชื่อเล่นของวง Iron Maiden นับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เป็นชื่ออัลบั้มรวมเพลงของวงเช่น ‘Best of the Beast’ และ ‘Visions of the Beast’

ส่วนประเด็นที่มีการวิจารณ์กันเกี่ยวกับงานอาร์ตเวิร์กของอัลบั้มซึ่งเป็นฝีมือการวาดของ เดเร็ค ริกส์ (Derek Riggs) ที่วาดเจ้าผีเอ็ดดีมาสคอตประจำวงกำลังควบคุมซาตานเหมือนหุ่นเชิด ในขณะที่ซาตานก็ควบคุมเอ็ดดีตัวเล็กด้วยอีกทีเช่นกัน ซึ่งทางวงก็ได้อธิบายว่าแนวคิดในการออกแบบปกนี้คือการถามว่า “ใครคือตัวร้ายตัวจริงในที่นี้ ใครเป็นคนบงการใครกันแน่” ตามคำกล่าวของริกส์ งานออกแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง ‘Doctor Strange’ “ซึ่งมีวายร้ายตัวใหญ่ที่กำลังควบคุม Doctor Strange ที่ห้อยอยู่กับสายโยงใยคล้ายหุ่นเชิด มันเป็นสิ่งที่ผมอ่านตั้งแต่ตอนเป็นเด็กในทศวรรษที่ 60s ” ในขณะที่ภาพของนรกถูกนำมาจากความรู้ของริกส์เกี่ยวกับศิลปะคริสเตียนในยุโรปยุคกลางซึ่งมักพบเห็นฉากดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

ส่วนเพลง “The Number of the Beast” ที่ถูกวิจารณ์จากกลุ่มศาสนาหลายกลุ่มในสหรัฐอเมริกาและกล่าวว่าเพลงนี้เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า Iron Maiden เป็นวงดนตรีของซาตาน แต่แท้จริงแล้วเพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากฝันร้ายของ สตีฟ แฮร์ริส (Steve Harris) มือเบสของวง ที่เกิดขึ้นหลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Damien: Omen II’ ในตอนดึกคืนหนึ่ง นอกจากนี้เนื้อเพลงยังได้รับอิทธิพลจากบทกวี ‘Tam o’ Shanter’ ของโรเบิร์ต เบิร์นส์ (Robert Burns) ด้วย เพลงเปิดด้วยการเสียงกล่าวถ้อยคำจากหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) อ่านโดยนักแสดงแบร์รี เคลย์ตัน (Barry Clayton) ซึ่งแต่เดิมเสียงนี้จะเป็นเสียงของนักแสดงอีกคนคือ วินเซนต์ ไพรซ์ (Vincent Price) แต่ไพรซ์เรียกค่าตัวแพงถึง 25,000 ปอนด์ทางวงก็เลยขอบาย

‘The Number of the Beast’ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 อัลบั้มเฮฟวีเมทัลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นอัลบั้มที่วางรากฐานที่สำคัญของแนวดนตรีนี้

Ozzy Osbourne – ‘Blizzard of Ozz’

Blizzard of Ozz เป็นอัลบั้มเปิดตัวของออซซี ออสบอร์น (Ozzy Osbourne) นักร้องเฮฟวีเมทัลตัวพ่อ และเป็นอัลบั้มแรกของออสบอร์นหลังจากที่เขาถูกไล่ออกจากวง Black Sabbath ในปี 1979 นอกจากนี้ยังเป็นอัลบั้มแรกจากสองอัลบั้มของออสบอร์นที่มีมือกีตาร์เป็น แรนดี โรดส์ (Randy Rhoads) ก่อนที่โรดส์จะเสียชีวิตในปี 1982 ในปี 2017 อัลบั้มนี้อยู่ในอันดับที่ 9 ในลิสต์ ‘100 อัลบั้มเมทัลยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล’ของนิตยสารโรลลิงสโตน

ในอัลบั้มนี้มีเพลง “Goodbye to Romance” เป็นเพลงแรกที่เขียนขึ้นสำหรับอัลบั้มนี้ ออสบอร์นกล่าวว่าเพลงนี้เป็นการบอกลาอดีตวง Black Sabbath ของเขา ในช่วงเวลาที่เขาคิดว่าอาชีพของเขาจะจบสิ้นลงหลังจากออกจากวง ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาออสบอร์นยอมรับว่าในขณะที่กำลังบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ เขารู้สึกว่าเขากำลังแข่งขันกับวง Black Sabbath อยู่

เพลงเด่นในอัลบั้มนี้ที่ชาวร็อกรู้จักกันดีโดยเฉพาะมือกีตาร์ก็คือ “Crazy Train” ที่มีริฟฟ์และลีลากีตาร์ที่เร้าใจ ไม่ว่าใครก็อยากจะแกะมาฝึกเล่นเท่ ๆ บ้างซึ่งเป็นผลงานการแต่งของออสบอร์น, โรดส์ และบ็อบ เดส์ลีย์ (Bob Daisley) เนื้อเพลงกล่าวถึงเรื่องของสงครามเย็นและความหวาดกลัวที่มีต่อการทำลายล้างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของออสบอร์นในฐานะศิลปินเดี่ยวและได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 9 ของกีตาร์โซโลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาโดยผู้อ่านนิตยสาร Guitar World

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส