ภาพยนตร์สัตว์ประหลาดนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าให้สาธยายเป็นระยะเวลาก็แทบจะนับเป็นชั่วอายุคนได้เลย โดยหนังประเภทสัตว์ประหลาดนั้น ถูกต่อยอดมาจากภาพยนตร์เทคนิคพิเศษอีกที ซึ่งการมีอยู่ของหนังเหล่านี้ก็ได้สร้างประโยชน์ให้วงการภาพยนตร์มากมาย เพราะทุกครั้งที่มอนสเตอร์ตัวใหม่เกิดขึ้นมา มันก็ตามมาพร้อมเทคนิคพิเศษที่ช่วยปฏิวัติวงการแผ่นฟิล์มอยู่เสมอ 

The Special Effects Mastery of THE LOST WORLD (1925) – Scriptophobic

ถ้าจะพูดถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ประหลาดในใจของเรา แน่นอนว่าหนังมอนสเตอร์ยักษ์จากญี่ปุ่น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘หนังไคจู (Kaiju)’ นั้น คงจะเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่แว่บเข้ามาในหัวของทุกคนอย่างแน่นอน แม้ว่าสัตว์ประหลาดบนแผ่นฟิล์มหลายตัวจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและน่าจดจำกัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไคจู มักจะกลุ่มที่ครองใจผู้ชมอย่างเหนียวแน่นเสมอ

เอ็ม พิคเจอร์ส วางกำหนดฉาย “What to Do with the Dead Kaiju?” กลางพฤษภาคมนี้  | JEDIYUTH

ไคจู เป็นคำศัพท์ของญี่ปุ่น มีความหมายว่าสัตว์ประหลาดขนาดมหึมา โดยสมัยก่อนมักจะใช้อ้างอิงถึงตำนานสิ่งมีชีวิตโบราณของญี่ปุ่น ในยุคต่อมา เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ คำว่าไคจูจึงขยายไปให้ครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และสิ่งมีชีวิตในตำนานจากทั่วโลก จนมาถึงยุคปัจจุบันไคจูได้ถูกใช้เป็นคำนิยาม อันหมายถึงสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ที่ออกมาเพื่อทำลายตึกรามบ้านช่อง และถูกจำในฐานะประเภทของหนังในที่สุด

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โกจิระ หรีอ ก็อดซิลล่า (Godzilla) คือราชันย์สัตว์ประหลาดที่โด่งดัง จนกลายเป็นภาพจำของหนังไคจูไปโดยปริยาย ซึ่งหลายคนก็คิดว่าก็อดซิลล่านั้นเป็นหนังมอนสเตอร์เรื่องแรกใช่ไหมล่ะ คำตอบคือผิด ก็อดซิลล่านั้นไม่ใช่หนังมอนสเตอร์เรื่องแรกแต่อย่างใด เพียงแต่ก็อดซิลล่าคือหนังที่ทำให้นิยามของคำว่าไคจูเด่นชัดขึ้นมา และบทความนี้จะพาคุณมาเจาะลึกไปถึงประวัติความเป็นมาของหนังไคจูกัน 

Gojira (1954) - Turner Classic Movies

ย้อนกลับไปในช่วงยุค 30 สมัยนั้นผู้คนตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ The Lost World (1925) นำเหล่าไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตบนจอภาพยนตร์ด้วยเทคนิคสตอปโมชัน (เทคนิคที่ผู้สร้างต้องสร้างแบบจำลองขึ้นมาและทำให้แบบจำลองนั้นมีชีวิตได้ด้วยการขยับทีละเฟรม) และต่อมาภาพยนตร์อย่าง King Kong ก็ได้ต่อยอดเทคนิคนี้มาใช้ ผสมผสานด้วยหุ่นกลแอนิเมทรอนิกส์จนทำให้คนดูตื่นตะลึงถึงเจ้าลิงยักษ์นี้ เรื่อยมาจนถึง The Beast from 20,000 Fathoms นั้นก็ยังใช้เทคนิคนี้อยู่ เรียกได้ว่ายุคทองของหนังสัตว์ประหลาดในอเมริกามีหัวใจหลักคือเทคนิคสตอปโมชันเลยล่ะ 

The Beast from 20,000 Fathoms (1953) | MUBI
The Beast from 20,000 Fathoms

โทโมยูกิ ทานากะ (Tomoyuki Tanaka) โปรดิวเซอร์ของ Toho Studios ผู้เป็นแฟนตัวยงของหนังมอนสเตอร์ หลังจากที่เขาได้เห็นว่าสัตว์ประหลาดในฮอลลีวูดนั้นทำได้ดีเพียงใด ทานากะจึงอยากลองสร้างหนังสัตว์ประหลาดของตัวเองขึ้นมาบ้าง ซึ่งทานากะก็หมายมั่นว่านี่จะเป็นโปรเจกต์ที่ได้รับความนิยม เพราะยุคนั้นหนังสัตว์ประหลาดของอเมริกาได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมาก โดยผู้ชมต่างตบเท้าเข้าโรงมาเพื่อชมความบันเทิงในโลกไซไฟ ซึ่งทานากะชอบไอเดียที่ The Beast from 20,000 Fathoms นั้นมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ประหลาดที่ถูกปลุกจากอาวุธนิวเคลียร์ เขาจึงใช้แรงบันดาลใจนี้ในการสร้างหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไคจูที่กำเนิดจากผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์

KAIJU-JAPANISM — Father of Godzilla
โทโมยูกิ ทานากะ

ในเวลาต่อมา ทานากะได้นำโปรเจกต์นี้ไปเสนอกับ Toho Studios และก็ได้รับไฟเขียวในการผลิตภาพยนตร์ไคจูเรื่องนี้ ซึ่งก็ยอมใจ Toho Studios ในความกล้าได้กล้าเสียนี้ เพราะในเวลานั้น Toho เป็นบริษัทที่ผลิตเพียงซีรีส์ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม และละครเวทีเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นแล้วการที่พวกเขาจะสร้างหนังไคจูเป็นของตัวเองจึงถือเป็นความคิดที่บ้าบิ่นพอสมควร

ในที่สุด ทานากะก็รวบรวมทีมของตัวเองมาได้ โดยมีผู้กำกับคือ อิชิโระ ฮอนดะ (Ishirō Honda), พ่วงด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสเปเชียลเอฟเฟกต์อย่าง เอจิ สึบูรายะ (Eiji Tsuburaya), ผ่านการเขียนบทของ ชิเงรุ คายามะ (Shigeru Kayama) และทาเคโอะ มูราตะ (Takeo Murata), บรรเลงเพลงประกอบที่เป็นตำนานโดย อากิระ อิฟูกูเบะ (Akira Ifukube) ซึ่งในเวลานั้น พวกเขาคิดแค่ว่าจะทำโปรเจกต์ที่ทะเยอทะยาน โดยไม่รู้เลยว่าหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นตำนาน ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ 

Creator Close-Up - Kaiju Battle
เอจิ สึบูรายะ

แม้ว่าในเวลานั้นสัตว์ประหลาดในอเมริกาจะใช้เทคนิคสตอปโมชัน เพื่อทำให้มอนสเตอร์ของพวกเขาเคลื่อนไหวได้ แต่ทว่าเออิจิ สึบุรายะ ผู้พัฒนาด้านสเปเชียลเอฟเฟกต์นั้นเห็นต่างออกไป เพราะเขาอยากทำให้ไคจูของพวกเขา ดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่จับต้องได้ ซึ่งโตโฮนั้นก็ทำละครเวทีและมีพวกฉากย่อส่วนในละครเวทีอยู่แล้วมากมาย สึบุรายะจึงตัดสินใจใช้ฉากย่อส่วนในการสร้างเมืองขึ้นมาแทน และเพื่อให้ไคจูของพวกเขาดูมีชีวิตชีวา สึบุรายะจึงสร้างสัตว์ประหลาดจากชุดยางและให้นักแสดงอยู่ข้างใน โดยให้นักแสดงเดินไปรอบ ๆ ฉากย่อส่วนเพื่อสร้างภาพของสิ่งมีชีวิตตัวนี้ให้มีขนาดยักษ์ขึ้นมา

ทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่วยกันปลุกปั้นสัตว์ประหลาดขึ้นมาด้วยเวลาไม่ถึงหนึ่งปี พวกเขาเรียกมันว่าโปรเจกต์ ‘โกจิระ’ ซึ่งเป็นการรวมคำว่ากอริลลาและคำภาษาญี่ปุ่นของวาฬคุจิระเข้าด้วยกัน โดยหนังยังแฝงสัญญะที่ถ่ายทอดความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์ผ่านไคจูออกมา และในปี 1954 หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการเข้าฉายและโลกก็รู้จักกับ ‘โกจิระ’ 

Gojira (1954) | Alamo Drafthouse Cinema
โกจิระ

โกจิระได้สร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ชุดยางของพวกเขาทำให้ไคจูบนหน้าจอดูมีชีวิต สัตว์ประหลาดในชุดยางดูมีเลือดเนื้อและน่าตื่นตากว่าแบบสตอปโมชัน จนโกจิระกลายเป็นที่ยอมรับของอเมริกาและมันถูกเรียกว่า ‘ก็อดซิลลา’ แม้ว่าสัตว์ประหลาดของอเมริกาจะออกมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ก่อนญี่ปุ่นหลายสิบปี แต่น่าเสียดายที่พวกมันไม่เคยถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์ไคจูเรื่องแรกเลย ซึ่งน้องเล็กที่โผล่มาทีหลังอย่างก็อดซิลลาก็ได้รับฉายาภาพยนตร์ไคจูเรื่องแรกตามไปด้วย และลงเอยที่ก็อดซิลลาถูกจดจำด้วยสมญานามว่า ‘ราชันแห่งสัตว์ประหลาด’

งานสเปเชียลเอฟเฟกต์ของสึบุรายะ ได้สร้างรากฐานให้วัฒนธรรมภาพยนตร์ในญี่ปุ่น จนกลายเป็นภาพจำของมอนสเตอร์ในชุดยาง แม้จะมีการใช้ CGI และสตอปโมชันมาช่วยอยู่บ้าง แต่ภาพยนตร์ไคจูส่วนใหญ่ที่ผลิตในญี่ปุ่นก็ยังนิยมใช้ชุดยางเป็นหลักอยู่ดี นอกเหนือจากการปฏิวัติวงการแล้ว สุนทรียศาสตร์ของสึบุรายะก็ยังมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์สัตว์ประหลาดรุ่นหลัง จนทำให้คำว่า ‘ไคจู’ กลายเป็นแรงบันดาลใจในหลายบริบท อาทิ ไดไคจู ที่ไว้ใช้เรียกไคจูขนาดยักษ์หรือมีความหลากหลายกว่าเดิม, ไคจิน ที่หมายถึงไคจูที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่เป็นขนาดยักษ์, อุลตร้า-ไคจู ซึ่งใช้เรียกตระกูลไคจูที่โผล่มาในอุลตร้าแมน, เซจิน ที่หมายถึงเผ่าพันธ์ุต่างดาว 

The Lake – บึงกาฬ [ตัวอย่าง / เรื่องย่อ / สัตว์ประหลาด] : Metal Bridges‏  แหล่งร่วมข้อมูลข่าวสาร เกมส์ การ์ตูน ของเล่น หนัง อุปกรณ์ ไอที
ไทจู หมายถึงสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์เรื่อง บึงกาฬ

โดยในฝั่งของอเมริกาก็ยังมีการบัญญัติศัพท์ของไคจูเพื่อใช้ในสื่ออื่น ๆ เช่น ไคจู ใน Pacific Rim ที่ระบุถึงสัตว์ประหลาดยักษ์ในเรื่อง โดยเป็นการทับศัพท์เพื่อแสดงถึงความเคารพ, ไททันส์ ใน Monsterverse ที่หมายถึงเหล่าสัตว์ประหลาดและก็อดซิลลาของค่าย Legendary และทางด้านไทยเราก็มีบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง ไทจู ขึ้นมา ซึ่งมีความหมายถึงสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์เรื่อง บึงกาฬ แต่ไม่ว่าไคจูจะถูกเปลี่ยนไปกี่บริบท เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศัพท์ทุกอย่างนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากไคจูและเป็นถูกใช้เพื่อแสดงความเคารพถึงภาพยนตร์มอนสเตอร์ของญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย 

ที่มา: wikipedia, sideshow, nofilmschool,