โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับมือดีของไทย สร้างชื่อจากการกำกับหนัง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ และ  ‘แฝด’ ก่อนจะตอกย้ำความเป็นผู้กำกับสายทริลเลอร์ระทึกขวัญเต็มตัว กับ ‘สี่แพร่ง’ ตอน ‘เที่ยวบิน 224’ และ ‘ห้าแพร่ง’ ตอน ‘รถมือสอง’ หลายปีต่อมาภาคภูมิหันมาลองชิมลางกำกับงานดราม่าที่มีกลิ่นอายของความแฟนตาซีมากขึ้นอย่าง ‘Homestay’ ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่บวก โดยเฉพาะการสอดแทรกเรื่องสัจธรรมชีวิตของคน ที่ชวนให้ตีความได้ต่าง ๆ นานา

วันนี้ภาคภูมิกลับมาอีกครั้งพร้อมผลงานซีรีส์ทริลเลอร์ลึกลับ ที่มาพร้อมกับไอเดีย high concept ที่ว่า ถ้าเกิดมีมือถือเครื่องหนึ่งที่สามารถลบคนได้ คุณจะลบใครไปจากโลกนี้ไหม? ซึ่งนี่คือผลงานการกำกับซีรีส์เรื่องแรกของเขาอีกด้วย

โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

วินาทีที่ ‘Delete’ ผุดขึ้นมา

ภาคภูมิ: จริง ๆ แล้วมันเป็นไอเดียของบริษัท ISM ที่ทำอยู่กับ GDH ตอนแรกเขามาชวนบอกว่า มีซีรีส์อันหนึ่งจะให้ทำ แล้วผมได้ยินว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับมือถือที่ลบคนได้ ผมก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ อยากฟังเรื่องต่อว่าเป็นยังไง สำหรับตัวผมเองตัวไอเดียมันขยายไปได้ไกลมากเลย มันสามารถไปอยู่ในมือใครก็ได้ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน และใช้โดยวิธีที่ไม่เหมือนกัน มันรู้สึกมันสนุกในการคิด ในการที่จะทำให้เรื่องมันเติบโตไปเรื่อย ๆ ยิ่งน่าสนุกขึ้น สามารถต่อเนื่องไปเป็นหลายซีซันเลยก็ได้

ว่ากันว่า นี่คือทีมนักแสดงในฝันของคุณเลย

ภาคภูมิ: จริง ๆ แล้วตอนระหว่างเขียนบทโดยมีโครงเรื่องรักสามเส้านี้อยู่ใช่ไหมครับ ผมก็เห็นภาพตัวละครแต่ละตัวเป็นนักแสดงเหล่านี้เลย ก็จะมีแค่บางตัวอย่าง ลิลลี่ (ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา) ที่เรายังไม่เห็นภาพ ไม่รู้ว่าควรจะเป็นใคร แต่บทอย่าง อร (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ทู (ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) หรือ เอม (นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต) คือผมเขียนไป ผมเห็นภาพคนเหล่านี้ไปด้วย

คือถ้าพูดถึงนัท เขาก็จะมีความคล้าย ๆ Content Creator เป็นเหมือนคนที่ทำข่าวออนไลน์ เป็นคนที่เราเห็นอยู่ในทีวีเวลาไลฟ์ แล้วเขามีบุคลิกที่คล้าย ๆ กับ ถ้าผม reference ก็เหมือนคุณเคน นครินทร์ เราอยากได้คนที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้  มีความรู้สึกอย่างนี้

ณัฏฐ์ กิจจริต รับบท ‘เอม’

ส่วนไอซ์ซึเป็นคนที่ผมมองไว้แต่แรกเลย ผมคิดไม่ออกแล้วครับว่า ตัวละคนในเรื่องอายุประมาณสามสิบต้น ๆ ใครจะมาเล่นบทนี้ได้เหมาะเท่าเขา เพราะว่าเวลาหารือกันว่าเราจะหาตัวเลือกอื่น หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมจะไม่ยอมขยับจากอันนี้เลย เพราะผมรู้สึกผมชอบไอซ์ซึมาก แล้วผมอยากให้ไอซ์ซึมาเล่นบทนี้ ผมว่าเขาเหมาะกับบททู

ตัวซีรีส์มีแอบสะท้อนชีวิตและความรู้สึกของคน ทั้งความเครียดทางสังคม ความสัมพันธ์ที่ toxic สิ่งเหล่านี้คือ message ที่คุณปักธงไว้ว่าอยากจะสื่อสารกับคนดูหรือเปล่า

ภาคภูมิ: มันสนุกในการคิดน่ะครับ ว่าแบบการที่คนคนหนึ่งมันหายไป มันเจ็บปวดมากกว่าการถูกทำให้ตายด้วยซ้ำ แล้วถ้ามันมี device นี้ที่ทำให้คนหายไปได้อย่างไร้ร่องรอย ไม่มีรอยเลือด ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ไม่มีหลักฐาน จับตัวคนทำไม่ได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะถูกใช้ไปในอะไรบ้าง จุดนี้มันทำให้เรารู้สึกว่ามันสะท้อนสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ในสังคมเหมือนกัน แบบว่าที่เขาตามหาคนที่หายไปจากชีวิต แล้วผมรู้สึกว่าบางที ถ้าเรารับรู้ว่าคนคนนั้นตายไปแล้วยังดีกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวดกับความรู้สึก หรือว่าการตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดเราลบใคร หรืออะไรไปสักอย่าง มันลบได้จริง ๆ ไหม มันลบไปจากความรู้สึก จากใจ จากความนึกคิดได้จริง ๆ ไหม มนุษย์ลบความรู้สึกได้จริงเหรอ หรือว่าการลบมันยิ่งทำให้เรายิ่งคิดถึงสิ่งนั้นมากขึ้น

คือจริง ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะขายความดาร์ก ‘ดาร์กแล้วคนจะมาดู’ ไม่ได้คิดแบบนั้น คิดว่ารู้สึกว่าเราอยากทำให้มันสนุก อยากให้ดูน่าติดตาม อยากให้ติดตามกับตัวละครกับเรื่องราวของเขาได้อย่างสมจริงมากกว่า ถ้าเราคราฟต์มันไม่ดี เราอาจจะไม่เชื่อมันก็ได้ ผมก็จำเป็นต้องสร้างมูดและโทนให้เกิดความเชื่อ ให้เกิดความรู้สึกว่า “เฮ้ย มันเป็นไปได้ว่ะ” ถ้ามันมีของเหล่านี้ขึ้นมาจริง ๆ มันจะเกิดอะไรขึ้น ให้อยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้จริง ๆ

ประทับใจอะไรที่สุดในกองถ่าย

ภาคภูมิ: ผมรู้สึกว่านักแสดงหลาย ๆ คนมีพัฒนาการ ช่วงแรก ๆ แต่ละคนจะมีวิธีการรีเสิร์ชตัวละครไม่เหมือนกันเลย อย่างไอซ์ซึเนี่ย เขารีเสิร์ชตัวละครชัดเจนมาก แบบว่า “พี่ผมว่าตัวละครนี้มันต้องมีรอยสักว่ะ ตัวละครนี้มันต้องไว้ผมทรงนี้ มันต้องแต่งตัวอย่างนี้ ผมว่าเขาเป็นเจ้าของฟาร์ม สีผิวเขาต้องเข้มว่ะ” เขาก็ไปอบผิวอะไรเอง โดยที่ไม่ได้อยู่ในแพลนของเราตอนแรก เขาพยายามทำให้ตัวเองอยู่ใน element ที่ใช่ที่สุดกับตัวละคร บางทีไอซ์ซึไปนั่งอยู่ในห้องของตัวละคร ที่มันเซตเอาไว้เสร็จแล้ว เข้าไปนั่งคิด นั่งซึมซับตัวละคร ผมเปิดประตูเข้าไป อยู่ในเซตถ่ายอื่น ๆ อยู่ ผมเห็นไอซ์ซึนั่งอยู่ในห้องของตัวละครนี้ แล้วก็นั่งเฉย ๆ นิ่ง ๆ เดาว่าเขาคงใช้ความคิด พยายามซึมซับว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครบ้าง เนี่ยเป็นวิธีที่เขาทำ ซึ่งผมไม่ได้ไปบอกให้เขาทำ แต่ว่าเป็นความพยายามที่เขาจะพยายามจูนกับตัวละครนี้

ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ รับบท ‘ทู’

เคยมีคิดเล่น ๆ ไหมว่า ถ้าเผอิญโทรศัพท์เครื่องนี้มาอยู่ที่ตัวเอง คุณจะลบใคร

ภาคภูมิ: คือผมจริง ๆ น่ะ มันก็คิดแหละ ว่าอยากจะลบใคร แต่ว่าพอจะเอาไปทำจริง ๆ คงจะลำบาก มันก็ไม่ต่างจากการฆ่าคนนะ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นความลับก็ตาม ถ้าเกิดสมมติจะลบจริง ๆ คิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่งแล้วผมรู้สึกว่าผมแก่แล้ว แต่ผมไม่อยากป่วย ผมอาจจะเอามาลบตัวเองก็ได้นะ

หลังจากที่เราทำงานในอุตสาหกรรมนี้มานาน ในฐานะผู้กำกับไทยคนหนึ่ง ณ เวลานี้ คอนเทนต์ของคนไทยสามารถทัดเทียมกับตลาดโลกได้หรือยัง

ภาคภูมิ: ผมเชื่อว่างานโปรดักชันทั้งหมด ผมว่าเราทัดเทียมได้สบาย แต่ว่าผมรู้สึกว่าในเชิงครีเอทีพ บทภาพยนตร์ ผมว่ามันต้องส่งเสริม ต้องพัฒนากันอีก ต้องเห็นความสำคัญของคนเขียนบทภาพยนตร์ ส่งเสริมคนทำงานในด้านนี้ให้มากขึ้น แล้วมันจะมีคนทำงานเก่ง ๆ ออกมามากขึ้น ซึ่งนี่คือจุดตั้งต้นเลย ถ้าเรามีคนเขียนบทน้อย เรามีคนเขียนบทที่ยังมีสกิลที่ไม่ถึงในระดับอินเตอร์ หรือไปในระดับเอเชีย ต่อให้โปรดักชันดียังไง คนก็ไม่หันมามอง ผมว่าสิ่งที่น่าลงทุนที่สุดตอนนี้ของการทำคอนเทนต์ไทยคือบท คือเรื่องราว คือครีเอทีพ มันต้องพัฒนาตรงนี้ ซึ่งผมเชื่อว่า ตอนนี้มันมีแพลตฟอร์มทำให้งานมันมีความหลากหลาย และมีงานหลาย ๆ ชนิดมากขึ้น มันทำให้คนเขียนบทไทย ตอนนี้ผมว่าก็พัฒนาขึ้น

ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา รับบท ‘ลิลลี่’

ในมุมหนึ่งมันจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทย สามารถทำหนังหรือซีรีส์ที่แตกต่างกว่าเดิมได้

ภาคภูมิ: ใช่ครับ ผมรู้สึกว่ามันทำให้เราได้เห็นผลงานที่หลากหลาย อย่าง ‘Hunger’ ถ้าเป็นหนังโรง ผมว่าน่าจะรออีกนาน กว่าจะได้เห็นหนังลักษณะแบบนี้

การทำงานร่วมกับ Netflix ทำให้ผลงานถูกนำไปฉาย 190 ประเทศทั่วโลก เรียกได้ว่าโกอินเตอร์ไปในตัว แอบกดดันมากน้อยขนาดไหนกับผลงานชิ้นนี้

ภาคภูมิ: ผมไม่ค่อยเอาประเด็นอันนี้มากดดันตัวเองในการทำงานเท่าไหร่ แต่ผมกดดันตัวเองในแบบว่า พอเราเขียนสตอรี่ขึ้นมา แล้วก็เอามาทำเป็นภาพ เราจะทำอย่างไรให้ภาพ ความรู้สึก หรือการกำกับ ออกมาให้ได้แบบสิ่งที่เราเขียนขึ้นมา ผมเชื่อว่าจุดหมายแรกของการทำกับ Netflix ครั้งนี้คือผมอยากทำให้คนไทยดูก่อนอยู่แล้ว แต่ด้วยตัวคอนเซปต์ ด้วยเรื่องที่ผมทำ มันมีความสากลอยู่

ทำหนังมาตลอด พอมาเป็นซีรีส์ แนวคิดในการสร้างสรรค์เปลี่ยนไปไหม

ภาคภูมิ: คือผมอยากทำซีรีส์มาตลอดนะครับ เพราะรู้สึกมันเป็นศาสตร์หนึ่งที่เราอยากจะลอง รู้สึกว่ามันก็ค่อนข้างจะแตกต่างออกไปจากการทำหนัง ถ้าทำหนังมันเป็นการวิ่งระยะสั้น ทำซีรีส์มันเหมือนวิ่งมาราธอน เหมือนผมทำหนังแปดเรื่อง ทุกนาทีที่เกิดขึ้นในหนัง ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับที่ผมทำหนัง ไม่ได้ต่างกันเลย

นับตั้งแต่ทำ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ จนมาถึง ‘Delete’ อะไรคือสิ่งคุณเปลี่ยนไป

ภาคภูมิ: ผมคิดว่าตัวเองยังอยู่ในฐานะนักเรียนครับ ผมก็เรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ว่า การทำหนังมันเป็นยังไง มันสามารถทำอะไรได้อีก เราชอบอะไร เราพยายามจูนตัวเองเข้าไปในอาชีพของเราว่า อะไรที่เหมาะกับเรา อะไรที่ไม่เหมาะกับเรา มันค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเราทำหนังต่อไปในปีที่เหลืออยู่ของชีวิตเนี่ย เราจะทำอะไรที่มันตอบความรู้สึกเรา เพราะว่าเวลาในการทำ เมื่อก่อนผมเห็นพวก biography ของผู้กำกับ บางทีทำแค่เจ็ดเรื่อง สิบเรื่อง ตอนเราเด็ก ๆ เรารู้สึกว่า “ทำไมทำน้อยจังวะ ทำไมไม่ทำเยอะกว่านี้” แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เราเข้าใจว่า การทำผลงานอะไรออกมาแต่ละเรื่อง มันใช้เวลานานมาก มันต้องเอาชีวิตเราไปด้วยส่วนหนึ่ง หรือแทบจะทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม มันใช้เวลาสองปี สามปี การที่เราจะเติบโตต่อไป หรือว่าเข้าใจตัวเองต่อไปว่าอยากทำอะไร มันเลยต้องชัดเจนมาก เพราะว่าเรามีเวลาจำกัด อะไรที่เราชอบแล้วยังเป็นความฝันที่จะทำต่อไปจะเรียนรู้ต่อไป ก็จะพยายามแพลนให้มันเป็นอย่างนั้น อันนี้คือสิ่งที่เรียนรู้แล้วรู้สึกว่า “อุ๊ย! ทำมาหลายปีแล้วเซียนขึ้น อยู่มือ” อะไรอย่างนี้  แต่รู้สึกว่ายังต้องเรียนรู้ไปตลอด เหมือนมันมีอะไรเพิ่มเติมได้ตลอด แล้วก็มีอะไรที่อยากทำมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เวลาน้อยลงเรื่อย ๆ

ขอ ‘สามคำ’ ให้ผลงานเรื่องนี้

ภาคภูมิ: มันเคยมีชื่อหนึ่งน่ะ ที่เหมือนเคยคิดเป็นชื่อไทย ก่อนจะมาเป็นชื่อ ‘Delete’ ซึ่งผมชอบมากเลย ก็คือ ‘ผู้ ต้อง หาย’

สุดท้ายฝากผลงานหน่อย

ภาคภูมิ: ก็อยากให้ฝากติดตามผลงานซีรีส์ ‘Delete’ นะครับ ก็เป็นการร่วมงานครั้งแรกของ GDH กับ Netflix แล้วก็ทีมงานที่ทำก็เป็นทีมทำภาพยนตร์ทั้งหมดเลย แล้วก็เป็นผลงานซีรีส์เรื่องแรกของผมด้วย ก็อยากให้ติดตามครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส