ในปีนี้ นอกจากตุ๊กตาบาร์บี้ ของเล่นเด็กหญิงในตำนานบริษัทแมตเทล (Mattel) จะถูกหยิบเอามาเล่าใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ในชื่อ ‘Barbie’ โดยฝีมือการเขียนบทร่วม และกำกับของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gwerwig) นำแสดงโดย มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) และ ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ที่กำลังฉายและได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม และกำลังทำรายได้อย่างงดงามในเวลานี้แล้ว

ปี 2023 ก็ยังเป็นวาระครบรอบปีที่ 26 ของซิงเกิล “Barbie Girl” เพลงสุดฮิตของยุค 90s ที่บรรจุในอัลบั้ม ‘Aquarium’ ของวงป๊อปแดนซ์สัญชาติเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ‘Aqua’ ที่ปล่อยออกมาครั้งแรกในปี 1997 อีกด้วย ซึ่งหลายคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้มาแล้วก็คงจะพอทราบว่า แม้ทั้งคู่จะเป็นสื่อที่เล่าถึงตุ๊กตาบาร์บี้เหมือนกัน แต่สุดท้าย เพลงทำนองคุ้นหูวัยรุ่น 90s ก็ไม่ได้ถูกใช้เป็นเพลงประกอบแต่อย่างใด

Barbie Girl Aqua Barbie Margot Robbie

โดย อูลริช มอลเลอร์-ยอร์เกนเซน (Ulrich Møller-Jørgensen) ผู้จัดการของวง Aqua เจ้าของเพลงฮิตเพลงนี้ ได้เปิดเผยกับทาง Variety แบบสั้น ๆ เมื่อปี 2022 ว่า เพลงนี้จะไม่ได้ถูกใช้ในภาพยนตร์ โดยที่ไม่ได้มีการเปิดเผยสาเหตุว่าเพราะอะไรกันแน่ แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ เป็นผลกระทบจากคดีความที่เกิดขึ้นระหว่าง Mattel เจ้าของลิขสิทธิ์บาร์บี้ ที่เคยฟ้องวง Aqua จากกรณีเพลง “Barbie Girl” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั่นเอง

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อตอนที่เพลง “Barbie Girl” ซิงเกิลที่ 3 ถูกปล่อยออกมาในปี 1997 หลังจากที่วางแผงอัลบั้ม ‘Aquarium’ ไปได้แค่ 2 เดือน แต่ด้วยกระแสความดังของเพลงที่ติดหู ทำให้เพลงนี้ขึ้นไปติดอันดับบนชาร์ตเพลงกว่า 10 ประเทศ และก้าวขึ้นไปติดอันดับที่ 7 ของชาร์ต ชาร์ต Billboard Hot 100 ในอเมริกา นอกจากนี้ ตัวอัลบั้ม ‘Aquarium’ ยังขายไปได้มากกว่า 14 ล้านชุด

ส่งให้วงศิลปินนอกกระแสของเดนมาร์ก ที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน 2 หญิง 2 ชาย ที่ประกอบไปด้วย ลีน ไนสตอรม (Lene Nystrøm), เรเน ดิฟ (René Dif), ซอเรน แรสเตด (Søren Rasted) และ คลอส นอร์รีน (Claus Norreen) ให้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แม้เนื้อเพลงจะพูดถึงเรื่องราวของตุ๊กตาบาร์บี้ที่สมาชิกทั้ง 4 แต่งขึ้นภายใต้ทำนองป๊อปแดนซ์จังหวะสนุก รวมทั้งมิวสิกวิดีโอที่เปี่ยมไปด้วยสีสันสดใส แต่ถ้าหากเจาะลงไปในระหว่างบรรทัดก็จะพบว่า เนื้อเพลงในแต่ละท่อนล้วนแฝงไปด้วยนัยที่สื่อถึงภาพอีกด้านของบาร์บี้ในการเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ผู้หญิงที่ต้องทำตัวเองให้สวยงามตามค่านิยม เช่น ต้องผิวขาว ผอมเพรียว หน้าอกใหญ่ สะโพกผาย จึงจะเป็นที่ถูกใจของชายหนุ่ม

เดือนธันวาคม ปี 2000 3 ปีหลังจากปล่อยซิงเกิล บริษัท MCA Records ค่ายต้นสังกัดของวง Aqua ถูกบริษัท Mattel ฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาว่าวงได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าของตุ๊กตาบาร์บี้ อีกทั้งกล่าวหาว่าเนื้อเพลงดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของตุ๊กตาบาร์บี้เสียหาย ทำให้บาร์บี้เป็นเพียงวัตถุทางเพศที่เชื้อเชิญให้ชายหนุ่มเข้ามาเล่นสนุกกับตัวเธอเอง เหมือนดังเช่นเด็กที่กำลังเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ ที่สามารถหวีผม ถอดเสื้อผ้า กอด จูบ สัมผัสได้ทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งการใช้คำแสลง ‘Blonde Bimbo’ ในเนื้อเพลง ที่หมายถึงหญิงสาวที่มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ แต่สมองกลวง

นอกจากนี้ในมิวสิกวิดีโอก็มีฉากที่ เรเน ดิฟ (René Dif) หนึ่งในสมาชิกที่รับบทเป็นเคน ดึงแขนของ ลีน ไนสตอรม (Lene Nystrøm) ที่เล่นเป็นบาร์บี้ออกมาแกว่งเล่น ซึ่งถูกมองว่าเป็นซีนที่มีความรุนแรง องค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ Mattel มองว่า เนื้อเพลงและวิธีการร้องอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ โดยในระหว่างตัดสิน ตัวแทนจากฝั่งของ Mattel ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แม้เนื้อเพลงจะเป็นที่ยอมรับได้ แต่การนำเอาทรัพย์สินของบริษัทไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบและไม่ได้รับการอนุญาต ถือเป็นการขโมย

หลังจากคดียืดเยื้อมา 2 ปี ในท้ายที่สุด ปี 2002 ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท MCA Records และวง Aqua พ้นข้อกล่าวหาตามที่โจทย์ฟ้อง โดยได้รับการคุ้มครองในฐานที่เพลงมีวัตถุประสงค์ในการล้อเลียน และยังได้เปิดเผยข้อวินิจฉัยเหตุแห่งการยุติคดีว่า ข้อฟ้องร้องของบริษัท Mattel ดังกล่าวนั้นเป็นการกล่าวหาที่เกินจริง และยังได้ยกฟ้องข้อกล่าวหาของ MCA Records ที่ฟ้องกลับ Mattel ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้มีส่วนทำให้ตุ๊กตาบาร์บี้มีชื่อเสียงมากขึ้นในวงกว้างจริง ๆ ในปี 2009 Mattel จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์เพลงนี้มาทำใหม่ ปรับเนื้อเพลงให้มีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กมากขึ้น เพื่อใช้โปรโมตตุ๊กตาบาร์บี้คอลเล็กชันใหม่ Barbie® Fashionistas™ ที่จัดจำหน่ายในปี 2009

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าแม้ต้นฉบับเพลง “Barbie Girl” จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์ แต่ Original Soundtrack ของหนังเรื่องก็ยังมีกลิ่นอายจากเพลงนี้ให้ได้ยินกันอยู่ ซึ่งคนที่พยายามผลักดันให้มีการใช้เพลงนี้ในหนังก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นหนึ่งในนักแสดง และโปรดิวเซอร์ของหนังอย่าง มาร์โกต์ ร็อบบี นั่นเอง โดยร็อบบีได้เปิดเผยกับเว็บไซต์ Rolling Stone ว่า เธอเจาะจงขอให้เกอร์วิกใช้เพลง “Barbie Girl” ในหนังเรื่องนี้ด้วย

“ฉันเป็นคนบอกกับเธอว่า ‘เกรตา คุณจะเอาเพลงนี้ใส่เข้าไปในหนังด้วยได้ไหม ? เราจะทำหนัง ‘Barbie’ โดยที่ไม่มีเพลงนี้ไม่ได้นะ เพลงนี้ต้องอยู่ในหนังด้วย’ แล้วเกรตาก็ตอบฉันว่า ‘ไม่ต้องห่วงนะ เราจะลองหาวิธีการเจ๋ง ๆ ที่จะใส่มันเข้าไปแน่ ๆ'”

ผลลัพธ์เจ๋ง ๆ ที่ว่านั้นก็คือ การนำเอา Sampling ส่วนหนึ่งจากเพลง “Barbie Girl” ของวง Aqua ทั้งเนื้อเพลงและจังหวะ มาเรียบเรียงใหม่ในเพลงที่ใช้ชื่อคล้ายเดิมว่า “Barbie World” เป็นเพลงแนวฮิปฮอปที่ขับร้องโดยศิลปินหญิง นิกกี มินาจ (Nicki Minaj) และแรปเปอร์หญิง ไอซ์สไปซ์ (Ice Spice) บรรจุเป็นหนึ่งในแทร็กของอัลบั้ม ‘Barbie: The Album’ อัลบั้ม Original Soundtrack ของหนังเรื่องนี้

ร็อบบีเล่าต่อไปว่า “หลังจากนั้นเธอก็เดินมาบอกว่า ‘ดูสิ ใครกำลังทำเพลงรีมิกซ์ “Barbie Girl” ของ Aqua อยู่ นิกกี มินาจ กับ ไอซ์สไปซ์ ไง!’ ตอนนั้นฉันแบบว่า ‘ทั้งคู่เลยเหรอ ? นี่ล้อเล่นหรือเปล่า ? ‘ คือฉันรู้ทันทีเลยค่ะว่า เพื่อนสาวฉันได้ยินต้องมีกรี๊ดแน่นอน”

ส่วน 2 ศิลปินเจ้าของเพลง และอดีตสมาชิกวง Aqua ทั้ง ลีน ไนสตอรม และ ซอเรน แรสเตด ได้เปิดใจเกี่ยวกับการที่เพลงต้นฉบับไม่ได้ถูกนำไปใช้ในหนังเรื่องนี้ ในวาระครบรอบ 25 ปีของเพลงนี้กับเว็บไซต์ Variety โดยไนสตอรมได้เผยว่า เธอไม่ได้แปลกใจกับเรื่องนี้มากนัก เพราะตัวเพลงอาจจะดูไม่สร้างสรรค์มากพอสำหรับหนัง

ส่วนแรสเตด ที่เปิดเผยว่าเขามองเรื่องนี้เป็นเรื่องขำ ๆ และกล่าวแบบติดตลกว่า “ผมว่า เราน่าจะพูดได้ว่า เราปฏิเสธไม่ให้ใช้เพลงนี้ในหนัง ก็เพราะว่า ไรอัน กอสลิง ไม่เหมาะที่จะใช้เพลงนี้! อะไรแบบนี้นะ…” แต่แม้จะติดตลก แต่แรสเตดเปิดเผยว่า เขาเองก็มีความสนใจอยากดูหนังเรื่องนี้เช่นกัน

“ผมเข้าใจนะครับว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ใช้เพลงนี้ แต่ยังไงก็ตาม พวกเราก็สนใจที่จะไปดูหนังเรื่องนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม”


ที่มา: Den of Geek, Collider, Variety, Rolling Stone

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส