เสน่ห์ที่น่าสนใจของภาพยนตร์ ‘Barbie’ ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นหนังไลฟ์แอ็กชันที่ถ่ายทอดเรื่องราวของของเล่นเด็กหญิงในตำนานอย่างตุ๊กตาบาร์บี้ให้มีชีวิตขึ้นมาเท่านั้น แต่ ผู้กำกับและผู้เขียนบทร่วมอย่าง เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) ยังได้สอดแทรกเรื่องราววัฒนธรรมที่เป็น Easter Egg ในหนังเอาไว้มากมาย ทั้งภาพยนตร์ที่ถูกนำมาอ้างอิง รวมทั้งการหยิบเอาประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดของตุ๊กตาบาร์บี้ และบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง แมตเทล (Mattel) มาใส่เอาไว้เต็มไปหมด และนี่คือส่วนหนึ่งของ Easter Egg ที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้


คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาและบทสรุปของภาพยนตร์ ‘Barbie’


ภาพยนตร์

‘2001: A Space Odyssey’ (1968)
2001 A Space Odyssey

ซีนแรกของตัวหนังเริ่มต้นด้วยฉากการยั่วล้อซีนแรกของหนังไซไฟดิสโทเปียในตำนานอย่าง ‘2001: A Space Odyssey’ (1968) หนึ่งในผลงานเอกของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ซึ่งฉากที่มีชื่อเรียกว่า ‘The Dawn of Man’ หรือฉาก ‘จุดเริ่มต้นของมนุษยชาติ’ นี้ ในต้นฉบับจะเป็นฉากที่เหล่าวานรในยุคโบราณก่อนการกำเนิดของมนุษย์ ได้ค้นพบแท่งหินสีดำประหลาดตั้งอยู่กลางทะเลทราย ลิงเหล่านั้นจึงได้เริ่มต้นวิวัฒนาการตัวมันเองจนเป็นมนุษยชาตินับตั้งแต่นั้น

ส่วนในหนัง ‘Barbie’ ลิงเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยเด็กหญิงที่เล่นตุ๊กตาเด็กทารก ก่อนที่จะได้พบกับ บาร์บี้ (มาร์โกต์ ร็อบบี – Margot Robbie) ในภาพลักษณ์เดียวกับบาร์บี้เวอร์ชันแรกสุดที่เปิดตัวในปี 1959 โดยสวมชุดว่ายน้ำวันพีซลายแถบขาวดำ รองเท้าส้นสูงสีดำ แว่นกันแดดทรงวินเทจกรอบสีขาว และต่างหูห่วงสีทอง เด็กหญิงยุคเก่าเหล่านั้นได้พบกับบาร์บี้ ซึ่งเปรียบเสมือนความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการระหว่างเด็กหญิงกับของเล่นรูปแบบใหม่ไปตลอดกาล


‘Clueless’ (1995)
Clueless

บาร์บี้เริ่มต้นชีวิตในบ้าน หรือ Barbie Dreamhouse ของตัวเองในทุก ๆ วันด้วยการตื่นนอน อาบน้ำทิพย์ และแต่งตัวทิพย์ในตู้เสื้อผ้าสีชมพูที่มีเครื่องแต่งกายครบชุดในบ้านที่ไม่มีผนัง กำแพง หน้าต่าง ที่สื่อถึงความไร้ความลับ และไร้เดียงสาในโลกของบาร์บี้

ร็อบบีได้เปิดเผยว่า ตู้เสื้อผ้าสุดเก๋ไก๋นี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากตู้เสื้อผ้า และระบบลองชุดด้วยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในคฤหาสน์ของ แชร์ ฮอโรวิตซ์ คุณหนูสุดคูลจาก ‘Clueless’ (1995) หนังวัยรุ่นสุดฮิตยุค 90s นอกจากนี้หากสังเกตให้ดี ๆ จะพบว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และบรรดา Accessories ของบาร์บี้ทุกชิ้นล้วนเป็นแบรนด์ Chanel แทบทุกชิ้น เพราะเนื่องจากร็อบบีเป็น Brand Ambassador ของแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2018 แจ็กเกอลีน เดอร์แรน (Jacqueline Durran) ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย จึงได้ออกแบบชุดบาร์บี้แบรนด์ Chanel ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ


‘The Wizard of Oz’ (1939)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังผจญภัยสุดคลาสสิก ‘The Wizard of Oz’ โดยเฉพาะเวอร์ชันที่ฉายในปี 1939 ที่ถือเป็นเวอร์ชันที่โด่งดังที่สุดตอนที่ออกฉายเมื่อ 84 ปีที่แล้ว แรงบันดาลใจที่เห็นได้ชัดก็คือฉากของบาร์บี้แลนด์ ที่ใช้วิธีการสร้างฉากขึ้นมาจริง ๆ โดยมีฉากหลังที่เกิดจากการวาดขึ้นด้วยมือโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกแต่อย่างใด

รวมทั้งฉากที่บาร์บี้นั่งรถผ่านถนนสีชมพูผ่านทุ่งดอกไม้ ก็ชวนให้นึกถึงถนนสีเหลืองผ่านทุ่งดอกป๊อปปี้ที่อยู่ใน ‘The Wizard of Oz’ รวมทั้งโครงเรื่องของหนูน้อยโดโรธี ที่ต้องเดินทางไปหาพ่อมดแห่งออซ ก็เหมือนกับเรื่องราวของบาร์บี้ที่ต้องออกไปผจญภัยในโลกจริงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ช็อตที่บาร์บี้นั่งรถผ่านโรงภาพยนตร์ในบาร์บี้แลนด์ ก็จะเห็นโปสเตอร์ของตัวละครหลักจาก ‘The Wizard of Oz’ ติดอยู่ที่หน้าโรงด้วยเช่นกัน


‘The Godfather’ (1972)
The Godfather

หลังจากที่เคน (ไรอัน กอสลิง – Ryan Gosling) ได้เรียนรู้การปกครองแบบปิตาธิปไตยจากโลกจริง เขาได้นำเอามาปรับใช้และยึดครองบาร์บี้แลนด์เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็น Kendom เปลี่ยนบ้านของบาร์บี้ตามมาตรฐานให้กลายเป็น Mojo Dojo Casa House บาร์บี้และเหล่าผองเพื่อน รวมทั้งเพื่อนจากโลกจริงได้แฝงตัวเข้าไปเรียกร้องความสนใจจากบรรดาเคน ๆ ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ เคน (คิงสลีย์ เบน-อาดีร์ – Kingsley Ben-Adir) ซึ่งได้แนะนำให้บาร์บี้รู้จักหนังมาเฟียอาชญากรรมสุดคลาสสิก ‘The Godfather’ (1972) ในระหว่างที่นั่งคุยกันหน้าจอโทรทัศน์


‘Pride and Prejudice’ (1995)
Pride and Prejudice

หลังจากที่เดินทางไปยังโลกจริง และได้พบกับความจริงบางอย่างที่สั่นสะเทือนความเชื่อของตัวเอง เธอได้เดินทางไปหา เวียร์ด บาร์บี้ (เคต แม็กคินนอน – Kate McKinnon) เพื่อค้นหาสาเหตุแห่งอาการเศร้าสร้อยของเธอที่ดูผิดจากบาร์บี้ปกติ ระหว่างนั้น หนังตัดเข้าโฆษณาปลอม ๆ ของบาร์บี้รุ่นใหม่ ‘Depression Barbie’ หรือบาร์บี้เวอร์ชันซึมเศร้า ที่มีบุคลิกถอดแบบมาจากคนที่กำลังสิ้นหวัง เช่น นั่งไถ Instagram 7 ชั่วโมง เจอภาพถ่ายชีวิตดี ๆ ของเพื่อนที่ห่างเหินกำลังจัดงานหมั้น และนั่งดูละครทีวี ‘Pride and Prejudice’ ฉบับปี 1995 ของ BBC ที่แสดงนำโดย คอลิน เฟิร์ธ (Colin Firth) ซึ่งในหนังจะเห็นซีนสั้น ๆ จากละครด้วย


‘The Matrix’ (1999)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

อีกซีนที่อ้างอิงมาใช้แบบเต็ม ๆ และเรียกเสียงฮาได้อย่างดีก็คือ ฉากที่บาร์บี้ได้เข้าไปขอคำปรึกษาจาก เวียร์ด บาร์บี้ (Weird Barbie) หลังจากที่พบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของตัวเอง ทั้งความรู้สึกร้อนหนาว เท้าแบน และมีเซลลูไลต์ที่ต้นขา เวียร์ด บาร์บี้ ได้ให้คำแนะนำให้บาร์บี้ออกไปเผชิญกับความเป็นจริงในโลกจริง โดยมีสัญลักษณ์คือรองเท้า 2 คู่ ระหว่างรองเท้าส้นสูงสีชมพู ที่หมายถึงการเลือกที่จะอยู่ในโลกแฟนตาซีต่อไป กับรองเท้าแตะ Birkenstocks สีน้ำตาล ที่สื่อถึงโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นฉากที่จงใจล้อเลียนฉากที่มอร์เฟียสได้ยื่นเม็ดยาสีแดง และสีน้ำเงินให้นีโอเลือกใน ‘The Matrix’ ภาคแรก แต่ความต่างมันอยู่ที่ นีโอเลือกยาเม็ดสีแดง แต่บาร์บี้ชอบรองเท้าสีชมพู


‘Rocky’ (1976)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

อีก Easter Egg ที่ซ่อนเอาไว้แบบเนียน ๆ ก็คือ ชุดเสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวของเคน (ไรอัน กอสลิง) สวมใส่หลังจากที่ได้เผยแพร่การปกครองแบบปิตาธิปไตยในเคนดอม โดยเคนเลือกสวมใส่ชุดนี้เพราะประทับใจบทบาทนักมวย ร็อกกี้ บัลบัว ที่แสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สโตอลโลน (Sylvester Stallone) ในหนัง ‘Rocky’ ที่เคยสวมเสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวในแบบเดียวกัน


‘The Shining’ (1980)
the-shining

อีก Easter Egg จากหนังของคูบริกที่ใส่มาแบบแอบ ๆ ไว้อย่างแนบเนียนก็คือ ฉากที่บาร์บี้ได้เจอกับ กลอเรีย (อเมริกา เฟอร์เรรา – America Ferrera) พนักงานบริษัทแมทเทล อดีตเด็กหญิงผู้มีความผูกพันกับบาร์บี้ในโลกจริงเป็นครั้งแรก ทั้งคู่เกิดความสนิทสนมเข้าขากันอย่างรวดเร็วทั้งที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก จนทำให้ ซาชา (อาเรียนา กรีนแบลตต์ – Ariana Greenblatt) ลูกสาววัยรุ่นของกลอเรียถามแม่ของเธอแบบจิก ๆ ว่า “แม่มี Shining กับบาร์บี้หรือเปล่าเนี่ย ? ” ซึ่ง Shining ที่ว่าก็หมายถึงญาณที่เป็นความสามารถวิเศษในการสัมผัสดวงวิญญาณ ในแบบเดียวกับที่ แดนนี ลูกชายของแจ็กมีอยู่ในหนังสยองขวัญระดับตำนาน ‘The Shining’


‘Zack Snyder’s Justice League’ (2021)

อีกฉากเรียกเสียงฮาที่เซอร์ไพรส์สุด ๆ ก็คือ ฉากที่ บาร์บี้นักเขียน (อเล็กซานดรา ชิปป์ – Alexandra Shipp) ได้กล่าวขึ้นหลังจากที่เหล่าบาร์บี้สามารถปลดแอกอำนาจปิตาธิปไตย และยืดคืนบาร์บี้แลนด์กลับมาได้สำเร็จ เหล่าบาร์บี้รู้สึกราวกับว่าเป็นอิสระจากการถูกล้างสมอง เธอได้กล่าวกับเพื่อน ๆ บาร์บี้ของเธอว่า “มันเหมือนกับว่าฉันถูกปลุกจากความฝันตอนที่ฉันกำลังดู ‘Zack Snyder’s Justice League’ อยู่เลย” ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่า นี่คือหนังรวมทีมซูเปอร์ฮีโรของ DC ภายใต้ชายคา Warner Bros. ซึ่งเป็นเวอร์ชัน Director’s Cut ของ ‘Justice League’ เวอร์ชันแรกที่ออกฉายในปี 2017


‘Singin’ in the Rain’ (1952) และ ‘Grease’ (1978)
Grease

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ‘Barbie’ โดยเฉพาะฉากบาร์บี้แลนด์ จะให้ความรู้สึกที่อ้างอิงจากบรรดาหนังฮอลลีวูดยุคทอง โดยเฉพาะฉากที่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีต และฉากหลังท้องฟ้าที่เขียนขึ้นด้วยมือ ซึ่งหลายคนอาจชวนให้ถึงหนังยุคเก่า ๆ ฉากเวทีดนตรีในอดีต หรืออาจนึกถึงฉากกึ่งจริงกึ่งปลอมในหนัง ‘The Truman Show’ (1998) รวมทั้งวิธีการนำเสนอเรื่องราวที่มีความเหนือจริง

โดยเฉพาะฉากที่บรรดาเหล่าเคนกำลังต่อสู้บนชายหาด ก่อนจะเปลี่ยนฉากเป็นสีพาสเทล ซึ่งอาจชวนให้นึกถึงฉากเต้นรำ “Broadway Melody” ของ จีน เคลลี (Gene Kelly) และ ซิด ชาริสส์ (Cyd Charisse) ใน ‘Singin’ in the Rain’ (1952) นอกจากนี้ จังหวะการเต้นแบบปะทะกันแบบแมน ๆ ของเหล่าเคน รวมทั้งการแต่งชุดสีดำล้วนก็ชวนให้นึกถึงฉาก “Greased Lightnin'” ของ จอห์น ทราโวลตา (John Travolta) ในหนัง ‘Grease’ (1978) ได้เช่นกัน


‘Playtime’ (1967)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

หลังจากที่บาร์บี้ถูกเชิญตัวเข้าไปยังตึกสำนักงานของบริษัท Mattel ในแคลิฟอร์เนีย (โลกจริง) บาร์บี้จึงได้มีโอกาสพบเห็นสำนักงานบริษัทที่ให้กำเนิดตัวเธอเป็นครั้งแรก และยังเป็นที่ทำงานของ ซีอีโอแมทเทล (วิล เฟอร์เรล – Will Ferrell) และ แอรอน ดิงกินส์ (คอนเนอร์ สวินเดลล์ส – Connor Swindells) พนักงานของบริษัทด้วย ออฟฟิศของ Mattel ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นพาร์ทิชันสี่เหลี่ยมขนาดเท่า ๆ กันที่เรียงกันอย่างสมมาตร ให้อารมณ์แข็งกระด้างและดูหม่นหมอง พาร์ทิชันสี่เหลี่ยมนี้มีความคล้ายคลึงกับตึกสำนักงานในปารีส จากหนังตลกเหนือจริงสุดคลาสสิก ‘Playtime’ (1967) ที่กำกับและแสดงนำโดยนักแสดงตลกตำนาน ฌาร์ก ตาติ (Jacques Tati)


‘Gotta Kick It Up!’ (2002)
Gotta Kick It Up!

ในฉากสุดท้ายของหนัง กลอเรียและซาชาได้พา บาร์บารา แฮนด์เลอร์ หรือบาร์บี้ในร่างมนุษย์ขึ้นรถของเธอเอง โดยมีสามีของเธอเป็นคนขับรถ ในระหว่างนั้น สามีของกลอเรียที่กำลังหัดพูดภาษาสเปนเบื้องต้นด้วยการพูดคำว่า “¡Sí se puede!” ที่แปลว่า “เราทำได้!” (Yes, We Can!) ซึ่งประโยคนี้สื่อไปถึงหนังทีวีแนววัยรุ่นของ Disney เรื่อง ‘Gotta Kick It Up!’ ที่เกี่ยวกับเรื่องของชมรมเชียร์ลีดเดอร์ในโรงเรียนมัธยม โดยทีมเชียร์ลีดเดอร์จะพูดว่า “¡Sí se puede!” ในระหว่างบูมเชียร์ ซึ่ง อเมริกา เฟอร์เรรา ผู้รับบทกลอเรีย ก็เป็นหนึ่งในนักแสดงของหนังเรื่องนั้นด้วย นอกจากนี้ สามีของกลอเรีย เจ้าของประโยคนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ ไรอัน เพียรส์ วิลเลียมส์ (Ryan Piers Williams) สามีในชีวิตจริงของเฟอร์เรรานั่นเอง

ประวัติศาสตร์ตุ๊กตาบาร์บี้ และบริษัท Mattel

แบรตซ์ (Bratz)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

ในฉากที่บาร์บี้ในชุดคาวบอยได้พบกับเด็กหญิงวัยมัธยมที่กำลังนั่งจับกลุ่มอยู่ในโรงเรียน ซึ่งพวกเธอได้พูดความจริงบางอย่างที่โหดร้าย จนทำให้บาร์บี้รู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งเด็กหญิงทั้ง 4 คนมีชื่อว่า ซาชา (Sasha), โคลอี (Cloe) จัสมิน (Yasmin) และ เจด (Jade) ซึ่งชื่อเล่นของพวกเธอนั้นตั้งตามชื่อคาแรกเตอร์ของตุ๊กตาที่มีชื่อว่า แบรตซ์ (Bratz) ตุ๊กตาหัวโตลุคเฉี่ยวที่ Mattel วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2001 และเสมือนเป็นคู่แข่งของบาร์บี้แบบกลาย ๆ


แทนเนอร์ (Tanner)
barbie and Tanner

นอกจากบรรดาสมาชิกบาร์บี้ที่อ้างอิงจากตุ๊กตาคอลเล็กชันที่ไม่ได้ผลิตต่อแล้ว ก็ยังมีตุ๊กตาสัตว์ด้วย นั่นก็คือหุ่นน้องหมาที่ปรากฏในบ้านของ เวียร์ด บาร์บี้ ที่อ้างอิงมาจากตุ๊กตาน้องหมา สัตว์เลี้ยงของบาร์บี้ที่มีชื่อว่า แทนเนอร์ (Tanner) ในคอลเล็กชัน ‘Barbie and Tanner’ ซึ่งมีจุดเด่นคือ สามารถอ้าปาก คาบกระดูกได้ ป้อนอาหารได้ และขับถ่ายออกมาเป็นก้อนที่มีแม่เหล็ก ที่สามารถใช้ที่ตักแม่เหล็กเก็บกวาดได้ด้วย แต่สุดท้ายของเล่นนี้ถูก Mattel เรียกเก็บคืนในปี 2007 เนื่องจากพบชิ้นส่วนแม่เหล็กหลุดออกมา และเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้


มิดจ์ (Midge)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

ในขณะที่บาร์บี้คนอื่น ๆ ล้วนแต่มีชื่อว่าบาร์บี้ แต่มีบาร์บี้ตัวหนึ่งมีชื่อว่า มิดจ์ (Midge) ที่แสดงโดย เอมเมอรัลด์ เฟนเนลล์ (Emerald Fennell) จุดเด่นของมิดจ์คือ เป็นตุ๊กตาบาร์บี้ตั้งครรภ์ ผมยาวสีแดง ใบหน้าตกกระ มีแฟนชื่อว่า อลัน (Alan) เปิดตัวครั้งแรกในปี 1963 และกลายเป็นที่ถกเถียงของผู้ปกครองบางส่วนถึงความเหมาะสม ที่มองว่ามิดจ์ดูเด็กเกินกว่าที่จะตั้งครรภ์ ก่อนจะมีการอัปเดตประวัติของมิดจ์ให้เป็นสาวโสด ยังไม่ตั้งครรภ์ ยังไม่แต่งงาน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับอลันในปี 2013


อลัน (Alan)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

ในบรรดาตัวละครชายที่ล้วนแล้วแต่รับบทเป็นเคน มีตัวละครชายตัวเดียวในบาร์บี้แลนด์ที่ไม่ได้มีชื่อว่าเคน ซึ่งนั่นก็คือ อลัน หรือ อัลลัน (Allan) รับบทโดย ไมเคิล เซรา (Michael Cera) ซึ่งอัลลันเปิดตัวครั้งแรกในปี 1964 ถูกวางคาแรกเตอร์ให้เป็นเพื่อนสนิทของเคน แต่ที่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร จึงโดนยกเลิกการจำหน่ายไปในปี 1966 ก่อนจะกลับมาในบทบาทแฟนของมิดจ์ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นอลันในปี 1991 ในระยะเวลาหนึ่ง และนำมาจำหน่ายในคอลเล็กชันพิเศษในวาระต่าง ๆ ในภายหลังแทน


‘Video Girl Barbie’
Video Girl Barbie

อีกหนึ่งคอลเล็กชันบาร์บี้ที่เลิกผลิตและอาศัยอยู่ในบ้านของ เวียร์ด บาร์บี้ นั่นก็คือ วิดีโอเกิร์ล บาร์บี้ (Video Girl Barbie) ที่วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2010 ความพิเศษของบาร์บี้เวอร์ชันนี้คือสามารถใช้เป็นกล้องถ่ายวิดีโอสั้น ๆ ได้ โดยจะมีเลนส์ฝังอยู่ในสร้อยคอ และมีจอ LCD สีที่สามารถดูวิดีโอได้ที่ด้านหลัง ตัวกล้องสามารถบันทึกคลิปวิดีโอสั้น ๆ ได้ 30 นาที และมีซอฟต์แวร์สำหรับตกแต่งภาพได้ในตัว แต่สุดท้ายก็จำต้องเลิกผลิตไป หลังจากที่ FBI ออกหนังสือเตือนว่า Video Girl สามารถเป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฏหมาย รวมถึงยังมีประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยด้วย


‘Earring Magic Ken’
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

หลังจากที่ตุ๊กตาเคนเวอร์ชันแรกวางขายในปี 1961 ต่อมาในปี 1993 ก็มีการปล่อยตุ๊กตาเคนในเวอร์ชันอัปเกรดรูปแบบใหม่ให้ดูเท่กว่าเดิม เคนเวอร์ชันนี้จะเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อตาข่าย สวมทับแจ็กเก็ตสีม่วง สวมสร้อยคอสีเงิน และมีจุดเด่นคือ เจาะหูที่ข้างซ้ายข้างเดียว โชคไม่ดี ที่ตุ๊กตาเคนเวอร์ชันเจาะหูนั้นไม่ได้รับความนิยม เพราะในยุคนั้นโดนวิจารณ์ว่ามีความดูล่อแหลมในเชิงรักร่วมเพศ ทำให้ตุ๊กตาตัวนี้ถูกเรียกคืนหลังจากจำหน่ายไปได้เพียงแค่ 6 เดือน Earring Magic Ken ในหนังแสดงโดย ทอม สตอร์ตัน (Tom Stourton) ปรากฏตัวคู่กับ Sugar Daddy Ken


‘Sugar Daddy Ken’
Sugar Daddy Ken

อีกหนึ่งคอลเล็กชันตุ๊กตาเคนที่ปรากฏในหนัง แสดงโดย ร็อบ ไบรดอน (Rob Brydon) โดยเคนในรูปลักษณ์ผมสีบลอนด์ทอง ใส่ชุดเบลเซอร์สีเขียว กระดุมสีชมพู สแล็กจับจีบสีขาว มาพร้อมกับลูกสุนัขสีขาวที่มีปลอกคอและสายจูงสีชมพู Sugar Daddy Ken ที่ Mattel ผลิตขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของบาร์บี้ในปี 2009 ซึ่งด้วยความที่ชื่อมีความล่อแหลม Mattel จึงต้องออกแถลงการณ์ว่าชื่อดังกล่าวมีที่มาจากลูกสุนัขพันธ์ุ West Highland Terrier ที่ถูกตั้งชื่อว่า ชูการ์ (Sugar) ซึ่งชื่อ Sugar Daddy Ken หมายความว่า เคนคือพ่อ (Daddy) ของเจ้าชูการ์


‘Growing Up Skipper’
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

ในหนัง กลอเรียได้เปิดเผยว่าเธอเองมีตุ๊กตาบาร์บี้อีกเวอร์ชัน นั่นก็คือ สคิปเปอร์ (Skipper) ซึ่งสคิปเปอร์ ถูกวางให้มีคาแรกเตอร์เป็นน้องสาวของบาร์บี้ และวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1964 จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งในปี 1975 ในชื่อ ‘Growing Up Skipper’ โดยมีกลไกพิเศษคือ เมื่อยกแขนขึ้น ความสูงของตุ๊กตาจะสูงเพิ่มขึ้น 1 นิ้ว และหน้าอกจะพองเพิ่มขนาดขึ้น ซึ่งภายหลังโดนโจมตีเนื่องจากถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ จนทำให้ได้รับความนิยมน้อยลง และได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ในเวลาต่อมา


เท้าแบน

ในโลกของบาร์บี้แลนด์ บาร์บี้และเคนทุกตัวล้วนไม่มีปัญหาเกี่ยวกับร่างกายใด ๆ แต่ในฉากแรก บาร์บี้เริ่มค้นพบว่าต้วเองค่อย ๆ มีชีวิตเปลี่ยนไป สิ่งแรกที่พบเจอก็คือ อาการเท้าแบน ที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในบาร์บี้แลนด์ เพราะจะทำให้ใส่รองเท้าส้นสูงไม่ได้อีก ซึ่งนี่เป็นการอ้างอิงจากลักษณะกายภาพของบาร์บี้ที่มักจะมีฝ่าเท้าโค้งเพื่อให้สามารถเปลี่ยนรองเท้าส้นสูงได้ และเป็นตัวบ่งบอกถึงความงามสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ บาร์บี้เท้าแบนจึงเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้บาร์บี้เดินทางไปยังโลกจริงเพื่อค้นหาสาเหตุของความงามที่เริ่มผิดปกติในตัวเธอเอง โดยฉากถอดรองเท้าส้นสูงนี้ ร็อบบีได้แสดงโดยใช้เท้าของตัวเอง โดยไม่พึ่งนักแสดงแทนหรือใช้ CG ใด ๆ ทั้งสิ้น


รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler)
Barbie Greta Gerwig Margot Robbie Mattel

รูธ แฮนด์เลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mattel ร่วมกับสามี เอลเลียต แฮนด์เลอร์ (Elliot Handler) และผู้ให้กำเนิดตุ๊กตาบาร์บี้ ได้ถูกอ้างอิงในหนังด้วย โดย เรีย เพิร์ลแมน (Rhea Perlman) รับบทเป็นวิญญาณของ รูธ แฮนด์เลอร์ ที่อยู่ในซอกลับ ๆ ในอาคารสำนักงานของ Mattel บาร์บี้ได้มีโอกาสพบกับเธอครั้งแรกตอนที่เธอกำลังหลบหนีการควบคุมตัวของซีอีโอบริษัท Mattel (วิล เฟอร์เรล – Will Ferrell) และเหล่าพนักงาน

และในตอนท้ายเรื่อง รูธได้เล่าให้บาร์บี้ฟังว่า ชื่อของเธอมีที่มาจาก บาร์บารา แฮนด์เลอร์ (Barbara Handler) บุตรสาวของเธอเอง ก่อนที่บาร์บี้จะตัดสินใจเป็นมนุษย์ในภายหลัง (ส่วนฉากหญิงชราอ่านหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏในตอนต้นเรื่องไม่ใช่บาร์บารา แต่เป็น แอน รอธ (Ann Roth) นักออกแบบเครื่องแต่งกายฮอลลีวูดเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ต่างหาก)

รูธ แฮนด์เลอร์ ได้ให้กำเนิดตุ๊กตาบาร์บี้ในปี 1959 และร่วมกับสามีของเธอเพื่อก่อตั้งบริษัท Mattel ขึ้นมา และดำรงตำแหน่ง CEO คนแรก ก่อนที่เธอและสามีจะโดนบีบให้ลาออกในปี 1975 เนื่องจากเธอโดนฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกงจากการแจ้งบัญชีอันเป็นเท็จ ซึ่งมุกเกี่ยวกับภาษีที่เธอพูดกับบาร์บี้ก็อิงมาจากคดีความนี้ด้วย ในเวลาต่อมา รูธเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ปี 2002 ในวัย 85 ปี


ที่มา: Total Film, Buzzfeed, People, Insider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส