หลังจากฉายมาจนครบ 1 สัปดาห์ ภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันเรื่องแรกที่ดัดแปลงจากของเล่นเด็กหญิงในตำนานของบริษัทแมตเทล (Mattel) อย่าง ‘Barbie’ จากฝีมือการเขียนบทร่วม และกำกับภาพยนตร์ของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) สามารถทำรายได้ในช่วงซัมเมอร์ได้อย่างงดงามด้วยรายได้ Box Office ทั่วโลกรวม 528.6 ล้านเหรียญ และเกอร์วิกยังกลายเป็นผู้กำกับหญิงที่ทำรายได้ช่วงเปิดตัวสูงที่สุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา แซงหน้า ‘Captain Marvel’ (2019) หนังซูเปอร์ฮีโรของ Marvel ได้สำเร็จ

นอกจากเนื้อหาที่สามารถหยิบเอาตุ๊กตาแฟชันไอคอน มาสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความสวยงามตามมาตรฐาน รวมทั้งประเด็นเรื่องของเฟมินิสต์ และมุมมองของปิตาธิปไตยตามแบบที่เกอร์วิกถนัดแล้ว ตัวหนังก็ยังบอกเล่าเรื่องของความสับสนในที่มาและตัวตนที่แท้จากข้างในได้อย่างน่าคิดและทำเอาหลายคนสะเทือนใจ โดยเฉพาะฉากสำคัญอีกฉากของหนังที่หลายคนต่างก็ประทับใจไม่น้อย แต่ก็สร้างความเข้าใจผิดให้กับหลาย ๆ คนที่ได้ดูด้วยเช่นเดียวกัน


คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ‘Barbie’


ฉากที่ว่านั้นก็คือ ฉากที่บาร์บี้ที่เดินทางมายังโลกจริง (Real World) หลังจากที่เริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน จากความงามตามมาตรฐานของบาร์บี้ที่สมบูรณ์แบบตลอดกาล เริ่มเกิดอาการเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงความรู้สึกภายในที่เริ่มคล้ายกับมนุษย์ผู้หญิงเข้าไปทุกที หลังจากที่บาร์บี้ได้รู้ว่าตัวเองนั้นไม่ได้เป็นสิ่งยอดนิยมของเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ทำให้ความรู้สึกภายในของเธอเริ่มสั่นสะเทือน บาร์บี้เดินไปพบกับหญิงชราคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนม้านั่ง บาร์บี้ในชุดคาวเกิร์ลเริ่มต้นสนทนากับเธอ และทำให้บาร์บี้เริ่มเข้าใจห้วงอารมณ์ของมนุษย์เป็นครั้งแรก

Barbie Margot Robbie Greta Gerwig

หลังฉาย ผู้ชมหลายส่วนทั่วโลกต่างเข้าใจว่านี่เป็นการแฝง Easter Egg เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดของบาร์บี้ ด้วยการเชิญ บาร์บารา แฮนด์เลอร์ (Barbara Handler) บุตรสาวของ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งชื่อบาร์บี้นั้นก็มีที่มาจากชื่อบุตรสาวของเธออย่างบาร์บารานั่นเอง แต่หลังจากที่ฉายแล้ว มีการค้นพบข้อมูลภายหลังว่า หญิงชราคนดังกล่าวที่ร่วมแสดงในหนังไม่ใช่บาร์บาราแต่อย่างใด แต่เป็นหญิงชราวัย 91 ปี นามว่า แอน รอธ (Ann Roth) ต่างหาก

หลายคนอาจสงสัยไม่น้อยว่า ถ้าหญิงชราคนดังกล่าวผู้ทำให้บาร์บี้น้ำตาหลั่งรินนั้นไม่ใช่บาร์บารา แล้วฉากนั้นมีความสำคัญอย่างไร เพราะอันที่จริงฉากนี้ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อเนื้อเรื่องโดยตรงเสียด้วย เกอร์วิกที่ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Rolling Stone เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เปิดเผยว่า ฉากนี้คือฉากที่สตูดิโอ Warner Bros. Pictures ได้ขอให้เธอตัดฉากนี้ออก แต่เธอยืนกรานที่จะคงฉากนี้เอาไว้ในหนัง เพราะแม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลัก แต่เธอเปิดเผยว่า ฉากนี้ถือเป็นหัวใจที่สำคัญอย่างมากต่อหนังเรื่องนี้

“ฉันรักฉากนั้นมาก ๆ เลยค่ะ หญิงชราคนที่นั่งบนม้านั่งตรงนั้นก็คือ แอน รอธ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เธอคือตำนานจริง ๆ นะ ฉากนั้นมันเป็นเหมือนจุดจบของห้วงเวลาหนึ่ง และมันไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย ซึ่งในการตัดต่อช่วงแรก ๆ มีคนดูหนังแล้วบอกว่า ‘เอิ่ม…คุณน่าจะตัดฉากนั้นออกไปได้นะ เพราะยังไงต่อให้ตัดออกไป เนื้อเรื่องก็ยังเหมือนเดิม’ แต่ฉันก็ตอบกลับไปว่า ‘ถ้าฉันตัดฉากนี้ออกไป ฉันก็นึกไม่ออกแล้วล่ะว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร'”

“นั่นคือสิ่งที่ฉันเห็น สำหรับฉันแล้ว ฉากนี้คือหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เลย วิธีที่มาร์โกต์แสดงในฉากนั้นมันช่างแสนอ่อนโยนและเป็นธรรมชาติมาก ๆ มีองค์ประกอบบางอย่างในหนังที่ทำให้คนพูดกันว่า ‘โอ้ ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่า Mattel หรือ Warner Bros. จะปล่อยให้คุณทำแบบนี้ได้’ แต่สำหรับฉันแล้ว ฉันเองก็ไม่อยากเชื่อว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้จะยังอยู่ในหนัง มันเป็นส่วนที่ไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นหัวใจของหนังจริง ๆ “

Barbie Margot Robbie Greta Gerwig

แอน รอธ หรือ แอน บิชอป รอธ (Ann Bishop Roth) เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายชาวอเมริกันวัย 91 ปีที่ทำงานในฮอลลีวูดมานานถึง 66 ปี ซึ่งเธอรู้จักกับเกอร์วิกในฐานะเพื่อนสนิทต่างวัย รอธเคยมีเครดิตในการออกแบบเครื่องแต่งกายในหนังมานับไม่ถ้วน อาทิ ‘Midnight Cowboy’ (1969), ‘Dressed to Kill’ (1980), ‘Primary Colors’ (1998), ‘The Talented Mr. Ripley’ (1999), ‘Mamma Mia!’ (2008), ‘Julie & Julia’ (2009), และ ‘The Post’ (2017) ตลอดการทำงาน รอธได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม 5 ครั้ง ชนะ 2 รางวัล จากหนัง ‘The English Patient’ (1996) และ ‘Ma Rainey’s Black Bottom’ (2020)

ส่วนบาร์บารานั้น แม้เธอจะไม่ได้มาแสดงในบทบาทนี้อย่างที่หลายคนเข้าใจแต่แรก แต่เธอก็ถือได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ก่อให้เกิดตุ๊กตาบาร์บี้ และบาร์บี้ที่อยู่ในหนังด้วย เธอเป็นลูกสาวของ รูธ และ เอลเลียต แฮนด์เลอร์ (Elliot Handler) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mattel และผู้ให้กำเนิดตุ๊กตาบาร์บี้ในปี 1959 รูธได้แรงบันดาลใจชื่อบาร์บี้มาจากชื่อของบาร์บารา ลูกสาวของเธอนั่นเอง รูธตัวจริงเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2002 ในวัย 85 ปี โดยวิญญาณของรูธที่ปรากฏตัวในหนัง รับบทโดย เรีย เพิร์ลแมน (Rhea Perlman) ส่วน บาร์บารา แฮนด์เลอร์ ตัวจริงในปัจจุบันมีอายุ 64 ปี ชื่อและนามสกุลของเธอยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อของบาร์บี้ หลังจากที่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเป็นมนุษย์ด้วย

Barbie Margot Robbie Greta Gerwig

แม้ฉากนี้จะไม่ได้เป็น Canon หลักของตัวหนังก็จริง แต่ฉากนี้ก็ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับคนดูเกี่ยวกับการรับรู้ของบาร์บี้ที่มีต่อโลกจริง ที่สั่นคลอนความเชื่อดั้งเดิมของเธอจนหมดสิ้น ในขณะที่โลกอุดมคติของบาร์บี้นั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความสวยงาม สมบูรณ์แบบ บาร์บี้ทุกตัวในบาร์บี้แลนด์ (Barbieland) ไม่มีหญิงชรา เพราะบาร์บี้ทุกตัวล้วนไม่รู้จักวัย และไม่มีอายุขัย

บาร์บี้ที่กำลังรู้สึกสั่นคลอน ได้พบกับหญิงชราในโลกจริงที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยท่าทีสบาย ๆ บาร์บี้ได้พูดชื่นชมเธอว่า “คุณดูสวยจัง…” หญิงชราตอบกลับเพียงสั้น ๆ ว่า “ฉันรู้แล้ว” ราวกับว่าเธอกำลังจะสื่อสารกับบาร์บี้ว่า ตัวเธอตระหนักในคุณค่าอย่างชัดแจ้ง และมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อตนเองอย่างมั่น ซึ่งบาร์บี้ก็สามารถเป็นเหมือนกับเธอได้เช่นกัน ก่อนที่เธอจะเริ่มเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ ทั้งหัวเราะและร้องไห้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะเข้าใจสิ่งนี้ได้

“แนวคิดเรื่องของความรักของคนเป็นแม่ หรือคุณย่าคุณยาย ที่มองลงมาที่คุณและพูดกับคุณว่า ‘ที่รัก เธอจะไม่เป็นไรแน่นอน’ เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกต้องการและอยากจะแบ่งปันให้กับคนดู ถ้าฉันตัดฉากนั้นออกไป ฉันก็ไม่รู้ว่าฉันทำอะไรลงไป แล้วก็ไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรที่ฉันจะต้องทำหนังเรื่องนี้ด้วย”


ที่มา: Rolling Stone, Variety, SlashFilm, Screen Rant

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส